ความเคลื่อนไหวดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) วันนี้ 16 ต.ค.67 ปิดตลาดที่ระดับ 1,485.01 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 19.98 จุด เปลี่ยนแปลง 1.36% ในช่วงระหว่างวันดัชนีดีดตัวขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ระดับ 1,488.59 จุด และย่อตัวลงมาทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 1,461.12 จุด มีมูลค่าการซื้อขายทั้งสิ้น 77,221.07 ล้านบาท
สรุปมูลค่าการซื้อขายแบ่งตามประเภทนักลงทุนในวันนี้ พบว่า กลุ่มสถาบัน บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนต่างประเทศ มีสถานะซื้อสุทธิ รวมมูลค่า 8,120.64 ล้านบาท แบ่งเป็น 2,239.90 ล้านบาท, 1,680.05 ล้านบาท และ 4,201.29 ล้านบาท ตามลำดับ
โดยการกลับเข้าซื้อของกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศในวันนี้ นับว่าเป็นการกลับเข้าซื้อครั้งแรก ในรอบ 14 วันทำการ ของต่างชาติ หลังจากที่ทยอยขายมาอยาางต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย.67 เป็นต้นมา มูลค่ารวมกว่า 24,209.02 ล้านบาท
ขณะที่กลุ่มนักลงทุนในประเทศ เป็นเพียงกลุ่มเดียวที่มีสถานะขายสุทธิ 8,120.64 ล้านบาท
นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการที่ทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25%ต่อปี มีผลทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับระดับลดลงจาก 2.50% ต่อปี มาสู่ 2.25%ต่อปีนั้น
มองว่าจะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจประเทศไทยเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยในปี 67 คาดว่า GDP ไทยจะขยายตัวได้ที่ประมาณ 2.4-2.5% และในปี 68 อัตราการเติบโตของตัวเลข GDP ก็มีความเป็นไปได้ที่จะแตะระดับ 2.9-3% ดังนั้น คนจึงใส่ความคาดหวังต่อเศรษฐกิจที่ดีเข้ามาในตลาดหุ้นไทย
ด้วยมีความหวังว่าตลาดจะดีขึ้น EPS ปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในครั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าไม่ได้แปลกใจมากนัก แต่เป็นแรงที่สร้างเซอร์ไพรส์ให้กับตลาดหุ้นไทย (SET Index) ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่ดี ช่วยเปิด Upside ให้กับตลาดในช่วงภาคบ่ายของวันนี้
โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงนั้น มองว่าจะเป็นผลบวกต่อกลุ่มหุ้นไฟแนนซ์ เพราะจะทำให้ต้นทุนทางการเงินต่ำลง ลูกหนี้มีรายได้ที่ดีขึ้น ก็เพิ่มศักยภาพในการชำระหนี้ที่ดีขึ้นตาม และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จิตวิทยาเชิงบวก ดอกเบี้ยถูกลง ยอดขายที่พักอาศัยจะดีขึ้น แบงก์มีแนวโน้มที่จะปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น
ในขณะที่กลุ่มแบงก์เองอาจได้รับผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพราะจะทำให้ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปรับตัวลดลง เมื่อความได้เปรียบของ NIM ลดลง แน่นอนว่าไม่เป็นผลดีกับกำไร
สำหรับดัชนีตลาดหุ้นไทยมองว่าการขึ้นมายืนเหนือระดับแนวต้านที่ 1,480 จุด ค่อนข้างเต็มมูลค่าพื้นฐาน ของการปรับลดดอกเบี้ยลง 1 ครั้งในปีนี้แล้ว และคาดว่าสิ้นปี 67 มีลุ้นได้เห็นการขึ้นไปทดสอบที่แนวต้าน 1,540 จุด ส่วนแนวรับประเมินกรอบไว้ที่ระดับ 1,460 จุด
ในแง่ของผลกระทบต่อค่าเงินบาทนั้น คาดว่าดอกการลดอัตราดอกเบี้ยลงอาจมีผลทำให้เงินบาทอ่อนค่า แต่ก็เป็นเพียงในระยะสั้นเท่านั้น อีกพักหนึ่งก็จะเริ่มกลับมาแข็งค่าอีกครั้ง เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง
ส่วนกระแสเงินทุนต่างชาติ คาดว่าในระยะสั้นอาจเห็นการกลับเข้ามาซื้อสุทธิหุ้นไทย แต่ถ้าจะมีสัญญาณการกลับมาชัดเจนอาจต้องรอให้กลับการเลือกตั้งสหรัฐฯ ผ่านพ้นไปก่อน