เปิดวิสัยทัศน์ "อิศรา" ปูทาง BPP ลุยพลังงานสะอาดสู่ความยั่งยืน

24 ต.ค. 2567 | 00:00 น.

"อิศรา นิโรภาส" แม่ทัพใหญ่ บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ ปูทางธุรกิจพลังงานสู่ความยั่งยืน ชูโรงไฟฟ้าถ่านหินอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมเดินหน้ามุ่งต่อยอดจากธุรกิจ ขยายพอร์ตผลิตพลังงานไฟฟ้าต่อเนื่อง

ด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาอากาศของโลกในปัจจุบัน ทำให้หลายประเทศทั่วโลกเริ่มมีการตื่นตันมากขึ้น ในทุกวันนี้สภาวะโลกร้อนนั้นเกิดขึ้นไวมากกว่าที่เคยถือเป็นวิกฤติที่สร้างความเสียหายไม่น้อย ปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ และปฎิเสธไม่ได้เลยว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนหลักๆ การเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเป็นจำนวนมาก

ทำให้ธุรกิจพลังงานโดยเฉพาะผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล จำเป็นต้องมีการปรับตัวและให้ความสำคัญในการประกอบธุรกิจแบบรับผิดชอบต่อโลกใบนี้มากขึ้น ซึ่งหนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศไทย บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ก็ได้วางแผนเร่งสร้างการเติบโตของพอร์ตโฟลิโอตามกลยุทธ์ Greener & Smarter

นายอิศรา นิโรภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP เปิดวิสัยทัศน์กับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า บริษัทยังคงมุ่งมั่นเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่การเป็นบริษัทผู้ผลิตพลังงานที่ยั่งยืน ผ่านการขยายพอร์ตให้ครอบคลุมมากไปกว่าการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า

ตามแนวทาง ‘Beyond Megawatts Portfolio’ ทั้งการขยายกำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน (Energy Infrastructure) และการพัฒนาธุรกิจแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน (Battery & Energy Storage System: BESS)” อีกทั้งบริษัทยังเดินหน้าขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่อง

แม้ว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าของพอร์ตรวมบริษัทเกือบครึ่งจะมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ BPP ได้มีการวางโครงสร้างโรงไฟฟ้าแบบยั่งยืนไว้ตั้งแต่เริ่มแรกอยู่แล้ว โดยคำนึงถึงการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต นอกจากการช่วยให้การผลิตไฟฟ้าทำได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินประกอบด้วย

โครงการ BLCP เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน กำลังผลิตขนาด 1,434 เมกะวัตต์ (MW) จำนวน 2 ยูนิต ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าที่ร่วมทุนกับ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO ในสัดส่วน 50/50 ส่งผลให้บริษัทมีกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนในโครงการดังกล่าวอยู่ที่ 717 MW

โดยโครงการดังกล่าวได้สัญญาการขายไฟฟ้าให้กับภาครัฐเป็นระยะเวลา 28 ปี ปัจจุบันได้ดำเนินการมาถึง 2 ใน 3 ของอายุสัญญาแล้ว เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิย์ (COD) ตั้งแต่ปี 2550 อีกทั้งยังเป็นโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีการนำเอาเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตไฟฟ้า ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ภาครัฐไทยกำหนดไว้

นายอิศรา นิโรภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP

โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อน หงสา หรือ HPC ตั้งอยู่ที่ประเทศลาว เป็นโครงการร่วมทุนกับ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH มีสัดส่วนการถือหุ้นที่ 40/40 และอีก 20% ที่เหลือถือโดย รัฐวิสาหกิจลาวโฮลดิ้ง (LHSE) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,878 MW ซึ่งมีการ COD ครบทั้ง 3 ยูนิตในปี 2559

HPC เป็นโรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่บนปากเหมือนถ่านหิน ทำให้วัตถุดิบมีเพียงพอรองรับการผลิต และมีการนำเอาเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในกระบวนการผลิตเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ กำลังผลิตกว่า 1,400-1,500 MW ถูกส่งกลับมาขายยังประเทศไทย โดยมีสัญญาขายไฟ 20-25 ปี ปัจจุบันยังมีอายุสัญญากับรัฐบาลไทยอีกราว 18 ปี กำลังผลิตในส่วนที่เหลือจะถูกนำมาขายให้กับท้องถิ่นประเทศลาว

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน SLG ตั้งอยู่ที่มณฑลซานซี ประเทศจีน ขนาดกำลังการผลิต 1,320 MW มีการ COD มาแล้วประมาณ 3-4 ปี เป็นอีกโรงไฟฟ้าที่มีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตโรงไฟฟ้าที่ไฮเทคที่สุด ทำให้อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission) ต่ำมากอีกทั้งโรงไฟฟ้า SLG ยังมีการผลิตไฟฟ้าจากไอน้ำร่วมด้วย

"ในขณะเดียวกัน BPP ยังได้มีการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งบนดิน (Solar farm) ลอยน้ำ (Solar Floating) บนหลังคา (Solar Rooftop) โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน (Thermal Power Business) รวมถึงโรงไฟฟ้าพลังงานลม (Wind) และก๊าซธรรมชาติ โดยกระจายพอร์ตการลงทุนทั้งในประเทศไทย จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ"

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ BPP

ด้วยบริษัทเล็งเห็นความต้องการด้านพลังงานในอนาคตที่มุ่งไปในทิศทางที่ยั่งยืนและทันสมัยมากขึ้น จึงได้กำหนดแผนการเติบโตทางธุรกิจจากปัจจุบันสู่ทศวรรษ 2030 หรือจนถึงปี 2573 ที่จะขยายพอร์ตธุรกิจที่ไม่จำกัดเฉพาะภาคการผลิตไฟฟ้า โดยเปิดประตูสู่น่านน้ำใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจผลิตพลังงาน อาทิ โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน (Energy Infrastructure)

โครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Utilization and Storage: CCUS) และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System: BESS) รวมไปถึงยังคงมุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการดำเนินงาน

และการขยายโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น ด้วยแนวทางนี้มั่นใจว่าบริษัทจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอแก่ผู้ถือหุ้น และสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนแก่ผู้มีส่วนได้เสีย สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจพลังงานยุคใหม่ที่ยั่งยืนและสอดรับกับบริบทใหม่ของสังคม

แผนการเติบโตทางธุรกิจตามแนวทางใหม่


1. ขยายการเติบโตด้านพลังงานไฟฟ้าคุณภาพผ่านโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ (Growth in Quality Megawatts CCGT)

โดยจะขยายการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ CCGT (Combined Cycle Gas Turbines) โดยเน้นตลาดในประเทศสหรัฐอเมริกา จากปัจจุบันที่ BPP มีโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติอยู่แล้ว 2 แห่ง คือโรงไฟฟ้า Temple I และโรงไฟฟ้า Temple II ในรัฐเท็กซัส 

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ CCGT ถือเป็นสินทรัพย์ที่ส่งมอบพลังงานไฟฟ้าคุณภาพได้อย่างเหมาะสม เพราะไม่เพียงสามารถสร้างกระแสเงินสดอย่างสม่ำเสมอให้แก่บริษัท แต่ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยเทคโนโลยี CCGT ที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (High Efficiency, Low Emissions: HELE) 

2. รักษาสมดุลระหว่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและตลาดไฟฟ้าเสรี (Balanced PPA and Merchant Market)

รักษาสมดุลของพอร์ตธุรกิจที่อยู่ในรูปแบบสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement: PPA) และตลาดไฟฟ้าเสรี (Merchant Market) เพื่อนำข้อได้เปรียบของรูปแบบการซื้อขายไฟฟ้าแต่ละประเภทมาก่อให้เกิดโอกาสในการสร้างรายได้สูงสุดจากการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า

โดยสามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างมั่นคงจากรูปแบบสัญญา PPA และสร้างโอกาสการทำผลกำไรสูงจากรูปแบบตลาดไฟฟ้าเสรี ทั้งนี้ BPP มีประสบการณ์การทำธุรกิจตลาดไฟฟ้าเสรี ERCOT (Electric Reliability Council of Texas) ในรัฐเท็กซัส เป็นอย่างดี

และพร้อมแสวงหาโอกาสในตลาดไฟฟ้าเสรีอื่นๆ อีกทั้งกำลังพัฒนาธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่องในตลาดไฟฟ้าเสรี ทั้งธุรกิจซื้อขายไฟฟ้า (Power Trading) และธุรกิจค้าปลีกไฟฟ้า (Power Retail) เป็นการต่อยอดจากธุรกิจผลิตพลังงานไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน 

3. ลงทุนในโครงการ CCUS เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ (Decarbonization through CCUS)

ขยายการลงทุนในโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCUS) โดยในปี 2566 ได้ลงทุนในโครงการ Cotton Cove ซึ่งนับเป็นโครงการ CCUS แห่งแรกของ BPP ที่คาดจะสามารถเริ่มดำเนินการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ภายในไตรมาส 4/2567 นี้ และคาดอัตรากักเก็บคาร์บอนเฉลี่ย 45,000 เมตริกตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปีในระยะเริ่มแรก นอกจากนี้ยังมีโครงการที่อยู่ในระหว่างการศึกษาอีกหลายโครงการ

4. ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Energy Infrastructure and BESS)

มองหาโอกาสลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน อาทิ ระบบสายส่งไฟฟ้า (Electricity Transmission System) โดยมุ่งเน้นโครงการที่สามารถสร้างกระแสเงินสดได้ทันทีและโครงการที่มีศักยภาพในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งในอนาคต

และการลงทุนในโครงการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ว่างในสินทรัพย์ที่มีอยู่ของ BPP ได้ ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้จะช่วยเสริมความมั่นคงในการเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่ระบบนิเวศการใช้พลังงานที่ยั่งยืน

ด้านธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน BPP ได้ลงทุนผ่านบ้านปู เน็กซ์ ในสัดส่วน 50% มีความคืบหน้าในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา โดยธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ได้ลงนามสัญญาเพื่อผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับพันธมิตรในประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันมีกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนรวม 100 MW ธุรกิจแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน เริ่มสายการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนของโรงงาน SVOLT Thailand และส่งมอบแบตเตอรี่ลิเธียมนิกเกิลแมงกานีสโคบอลต์ออกไซด์ (NMC) ชุดแรกให้กับผู้ให้บริการรถบัสรายใหญ่ที่สุดในไทย 

สำหรับโครงการแบตเตอรี่ฟาร์มอิวาเตะ โตโนะ (Iwate Tono) ในญี่ปุ่น มีความคืบหน้าในการก่อสร้างถึง 97% ธุรกิจอีโมบิลิตี้ รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า MuvMi เดินหน้าขยายเส้นทางการให้บริการอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันได้ให้บริการรับส่งแล้วมากกว่า 13 ล้านเที่ยว ธุรกิจการบริหารจัดการพลังงาน ได้ลงนามในสัญญาบริการจำนวน 25 สัญญาให้แก่ SB Design Square ในจังหวัดภูเก็ต และ SB Design Square CDC ในกรุงเทพฯ

ขณะเดียวกันหน่วยงาน Corporate Venture Capital ยังได้ลงทุนใน enspired ผู้นำในการพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการซื้อ-ขายพลังงานไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยี AI ที่จะยกระดับการดำเนินงานในธุรกิจแบตเตอรี่และการซื้อขายพลังงานของบ้านปู เน็กซ์

จ่อเคาะแผนงาน 5 ปีใหม่

อย่างไรก็ตาม บริษัทอยู่ระหว่างการปรับเป้าหมายแผนงาน 5 ปีใหม่ เบื้องต้นคาดว่าไม่เกิดเดือนพฤศจิกายน 2567 จะได้เห็นข้อสรุปที่ชัดเจน และจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการ ตามลำดับ ซึ่งแน่นอนว่าแผนงานใหม่นี้ยังรวมไปถึงการขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าโครงการใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งแบบที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว และที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง รวมถึงการขยายตลาดซื้อ-ขาย ไฟฟ้าแห่งใหม่เพิ่มเติม