จับตา 2 ปัจจัยเสี่ยงทางสาธารณสุข ดันประเทศไทยล้มละลาย

24 ต.ค. 2567 | 02:00 น.

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เปิด 2 ปัจจัยเสี่ยงระบบสาธารณสุข "สึนามิผู้สูงวัย – การจัดการโรค NCDs" พาไทยเข้าสู่วิกฤต แนะนายกฯ นั่งหัวโต๊ะเร่งแก้ไขปัญหาก่อนประเทศล้มละลายในปี 2577

ฐานเศรษฐกิจ มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้สะท้อนปัญหาสำคัญในระบบสาธารณสุขของไทย 2 ประเด็นใหญ่ โดยชี้ให้เห็นว่า หากไม่สามารถบริหารจัดการได้ภายในปี 2577 ประเทศไทยจะเข้าขั้นวิกฤตเสี่ยงล้มละลายได้

นพ.ศุภกิจ ผอ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เริ่มต้นขยายความให้ฟังว่า ประเทศไทยมีปัญหาหลายเรื่องแต่ 2 เรื่องที่มีผลกระทบมาก เรื่องแรก คือ การเปลี่ยนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วกว่าที่คาดไว้ เมื่อเทียบกับหลายประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว เช่น ประเทศญี่ปุ่นจะมีลักษณะแบบค่อย ๆ ขยับแต่ของไทยนั้นมีรูปแบบที่เรียกว่า "สึนามิประชากร" โดยช่วงปี 2506 -2526 มีอัตราการเกิดของประชากรมากกว่า 1 ล้านคนต่อปี

คนกลุ่มนี้กำลังจะกลายเป็นผู้สูงอายุ คลื่นประชากรที่มีมากกว่า 1 ล้านคนในแต่ละปีกำลังพัดเข้ามาในโครงสร้างอายุประชากรไทย เป็นสาเหตุที่ทำให้การสูงวัยในประเทศไทยเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ได้กำหนดให้ผู้ที่มีอายุ 60 ปีเป็นผู้สูงอายุ ดังนั้น คนกลุ่มนี้เตรียมจะขึ้นฝั่ง

ปัญหาของประเทศไทยยังทับซ้อนพ่วงด้วยอัตราของเด็กแรกเกิดที่มีน้อยลงด้วยซึ่งจะส่งผลกับภาคแรงงานในเวลาอันใกล้ วันนี้อัตราการเจริญพันธุ์ (TFR) ของไทย พบว่า ผู้หญิงหนึ่งคนมีลูกเฉลี่ยอยู่ที่ 1.1 คน และมีแนวโน้มว่าจะลดลงเรื่อย ๆ วันนี้ประเทศไทยมีอัตราการเกิดอยู่ที่ประมาณ 4 แสนคน จากเมื่อ 5 ปีก่อนอยู่ที่ 1.5 ล้านคน

ขณะที่ในปี 2583 คาดว่า ประเทศไทยจะมีประชากรผู้สูงอายุ 1 ใน 3 อยู่ในภาวะพึ่งพิง กล่าวคือ สัดส่วนของคนทำงานที่ต้องแบกรับจากเดิมสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 2 คนกว่าแบก 1 คน ในอนาคตจะมีสัดส่วนไม่ถึง 2 และเหลือ 1 ต่อ 1 นี่คือ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นซึ่งการแก้ปัญหาเรื่องนี้ "ไม่ง่าย"

เมื่อไม่สามารถกระตุ้นการเพิ่มจำนวนประชากรได้ต้องมาทำเรื่องของการยกระดับ "คุณภาพของเด็ก" ให้มากขึ้น ในอดีตเด็ก 100 คนมีคุณภาพ 50 คน วันนี้ถ้ามีเด็กเหลือแค่ 80 คน เราต้องทำให้มีคุณภาพสัก 70 คน ความยาก คือ จากงานวิจัยกว่าจะไปเป็นนโยบายต้องใช้เวลาหลายปี ต้องทดลองว่า สามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้

อีกเรื่อง คือ การจัดการ "โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง" (Non - Communicable Diseases : NCDs) ซึ่งประเทศไทยได้ทำยุทธศาสตร์ NCDs มาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว (ระหว่างปี 2554-2563) ทั้งยังเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ทุ่มงบประมาณเรื่อง "การสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย" โดยจัดทำทุก ๆ 5 ปี และในปีนี้เป็นการสำรวจครั้งที่ 7 ใช้งบประมาณ 90 ล้านบาท คาดว่าจะได้ผลสำรวจในปีหน้า

จากข้อมูลผลสำรวจครั้งที่ 4, 5 และ 6 โดยวิเคราะห์ 2 เรื่องพื้นฐานสำคัญที่จะก่อให้เกิดกลุ่มโรค NCDs เช่น โรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง และโรคไต พบว่า ความชุกโรคเบาหวาน ขยับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลง ชี้ให้เห็นว่า มาตรการต่าง ๆ ที่ออกมานั้น เช่น รณรงค์ไม่กินหวาน ไม่ได้ผล เช่นเดียวกับผลสำรวจเรื่องของ "ความดัน" ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยพบว่า 1 ใน 4 คนที่เดินมาเป็นความดัน 1 คน

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

ขณะที่ภาพรวมของประเทศวันนี้ คนไทยมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพรวมทุกประเภท ทั้งกรณีที่รัฐจ่ายและที่จ่ายให้กับตัวเอง เช่น ซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเสริม 5% ของ GDP ประเทศ หรือ ประมาณ 8-9 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ถ้าดูสัดส่วนจาก disability-adjusted life year (DALY) คือ การสูญเสียปีสุขภาวะ พบว่า ประมาณ 70-80 % มาจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ โรค NCDs ยังไม่รวมเรื่องของ ค่าเสียโอกาส ที่เกิดขึ้นด้วย คาดว่าจะมีตัวเลขราว 2 ล้านล้านบาท

"จากข้อมูลคาดว่า ในปี 2577 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า คนไทยจะฟอกไตอยู่ที่ 8 แสน - 1.8 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 10 เท่าจากปัจจุบัน แต่ถ้ารณรงค์ให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้จะลดลงเหลือ 8 แสนคน เมื่อเทียบกับตัวเลขของ สปสช.ในปัจจุบัน ระบุว่า คนไทยฟอกไตอยู่ประมาณ 1 แสนคน มีค่าใช้จ่ายในการฟอกไตนับหมื่นล้านบาท ถ้าหยุดยั้งเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ เราทุกคนต้องร่วมเผชิญชะตากรรมเดียวกันและอาจจะเกิดปัญหามีบางคนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง"

ถามว่าประเทศไทยจะฝ่าวิกฤตนี้ไปได้อย่างไรนั้น หมอศุภกิจ ย้ำชัดว่า ต้องช่วยกันทุกภาคส่วน เริ่มตั้งแต่ระดับนโยบาย ระดับกระทรวงซึ่งไม่ใช่เฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ระดับท้องถิ่นไปจนถึงชุมชนและภาคประชาชน

"รัฐบาลต้องมีนโยบายที่เข้มแข็ง (Strong) จริงจังในการแก้ปัญหา และหากนายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะสู้กับเรื่องนี้ด้วยตัวเองจะทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนได้มากขึ้น ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ในปี 2577 หรือ 10 ปีข้างหน้าถ้าประเทศไทยยังแก้เรื่องนี้ไม่ได้เราล้มละลายแน่นอน"


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,038 วันที่ 24 - 26 ตุลาคม พ.ศ. 2567