Liberator คาด SET วันนี้ Sideways กรอบ 1,450-1,480 จุด แนะย่อตั้งรับหุ้นกำไรดี

28 ต.ค. 2567 | 03:03 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ต.ค. 2567 | 03:04 น.

บล.ลิเบอเรเตอร์ คาด SET วันนี้ Sideways ในกรอบ 1,450-1,480 จุด สถานการณ์การเมืองโลกยังผันผวน คาดกระตุ้น DXY แข็งค่า ในประเทศยังเน้นติดตามรายงานงบ ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ เกาะติดตัวเลขส่งออกไทย เดือน ก.ย. กลยุทธ์ย่อตั้งรับหุ้นที่คาดกำไรขยายตัวดี วันนี้แนะนำ ITC

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐาน บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด (Liberator) ประเมินภาพรวมตลาดหุ้นไทยวันนี้ 28 ต.ค.67 คาด SET วันนี้ “Sideways” ในกรอบ 1,450-1,480 จุด โดยมองว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนท่ามกลางหลายปัจจัย ทั้งด้านการรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่างๆ และความผันผวนทางการเมืองในหลายประเทศ

โดยสำหรับประเด็นการเมือง สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (27 ต.ค.67) มีการเลือกตั้งของญีปุ่น ซึ่ง Exit poll เผยว่า พรรคเสรีประชาธิปไทย (LDP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลญี่ปุ่นที่ครองเสียงข้างมากมาอย่างยาวนาน มีโอกาสที่จะสูญเสียที่นั่งอย่างมากในการเลือกตั้งครั้งนี้ อาจสร้างความผันผวนทางการเมืองอย่างมาก คาดฉุดให้ค่าเงินเยนยังมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง

ส่วนด้านการเลือกตั้งสหรัฐฯ ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 5 พ.ย.67 นี้ ผลสำรวจคะแนนความนิยมล่าสุดที่จัดโดย RealClearPolitics พบว่า โดนัล ทรัมป์ ผู้สมัครจากพรรคริพับลิกัน กลับมานำ กมลา แฮร์ริส ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต อยู่เล็กน้อย (48.5% Vs 48.4%) คาดกระตุ้นให้ DXY มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ส่งให้ค่าเงินบาทยังอ่อนค่า กดดัน Fund Flow

สำหรับไทย วันนี้ติดตามรายงานยอดการส่งออก เดือน ก.ย. คาดขยายตัว 3% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน สู่ 2.65 หมื่นล้านเหรียญ (ขยาย 3 เดือนติดต่อกัน) ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของ GDP ของไทย ให้เร่งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ดังนั้นยังมองจังหวะสร้างฐานของ SET  เป็นโอกาสทยอยสะสมหุ้นพื้นฐานดี ที่มีแนวโน้มกำไรขยายตัวเด่น

ปัจจัยที่ต้องจับตา

28 ต.ค.      ยอดส่งออกไทย ก.ย. 
29 ต.ค.      JOLTS Job Openings, 
                  ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค สหรัฐฯ, 
30 ต.ค.      MPI ของไทย, จ้างงานภาคเอกชนจาก ADP, 
                  ไตรมาส 3/67 GDP สหรัฐฯ, ไตรมาส 3/67 GDP ยูโรโซน, 
                  ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยูโรโซน

หุ้นแนะนำ

  • ITC ราคาเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 29.50 บาท คาดกำไรไตรมาส 3/67 ที่ 1,019 ล้านบาท เติบโต 58% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน และขยายตัว 1% จากไตรมาสก่อน ยังขยายตัวจากราคาวัตถุดิบที่ลดลง แม้ว่าค่าเงินบาทในช่วง ไตรมาส 3/67 จะอ่อนแอกว่าคาดก็ตาม (แต่มีการล็อกค่าเงินบาทไว้แล้ว) ภาพรวมการดำเนินงานยังขยายตัวได้ต่อเนื่องตามการขยายตลาดใหม่ๆ และการส่งออกที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งยังคงรักษาอัตรากำไรขั้นต้นไว้ได้
  • WHA ยังมีมุมมองเชิงบวกจากการลงทุนในไทยปี 67 ที่มีทิศทางที่ดีขึ้น สอดคล้องกับมูลค่า FDI ปี 66 ที่เติบโตกว่า 73% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยนักลงทุนจีนเข้ามาสูงสุด จากอุตสาหกรรม EV บริษัทตั้งเป้าปีนี้ธุรกิจโลจิสติกเพิ่มอีก 2 แสน ตร.ม. ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม จะขยายเพิ่มอีก 2,070 ไร่ รวมทั้งจะมีการขยายสินทรัพย์เข้ากองทรัสต์รวม 2.13 แสน ตร.ม.
  • SGC ราคาเป้าหมาย 1.96 บาท คาดกำไรครึ่งหลังปี 67 จะเร่งตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการเติบโตของโครงการ SG Finance+ ซึ่งเป็นการปล่อยสินเชื่อมือถือที่สามารถล็อกได้หากผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้ NPL Ratio อยู่ในระดับต่ำ ผสานกับการปลดล็อกการเพิ่มทุน จะหนุนให้ SGC ผ่อนคลายดอกเบี้ยจ่าย และมีเม็ดเงินเพิ่มเติมในการปล่อยสินเชื่อ หนุนปี 68 กำไรจะเติบโตแบบก้าวกระโดด 
  • BH คาดกำไรไตรมาส 3/67 ยังคงเติบโตโดดเด่น จากการเข้าสู่ช่วง High Season โดยคาดผู้ป่วยจากตะวันออกกลางยังปรับตัวขึ้นดี ขณะที่ประเด็นของคูเวต คาด BH มีโอกาสถูกเลือกเป็น 1 ใน 3 โรงพยาบาลในไทยที่รัฐบาลคูเวตสนับสนุน ภาพระยะกลาง คาดได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากการเปิดโรงพยาบาลแห่งใหม่ในภูเก็ตในช่วงปี 69
  • AOT คาดกำไรในช่วง ก.ค.-ก.ย. 67 จะขยายตัวได้ จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน ตามรายได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ในฝั่งรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการบินอาจลดลงเล็กน้อย จากการยกเลิกร้าน Duty Free ขาเข้าตั้งแต่ ส.ค. 67 ขณะที่ในระยะสั้นคาดมีปัจจัยบวกจาก Golden week หนุนนักท่องเที่ยวจีนสูงขึ้น และการเดินหน้าต่อในช่วงปลายปีคาดนักท่องเที่ยวจะเร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการเข้าสู่ช่วงฤดูกาล ขณะที่ Upside อาจมาจากมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐฯ
  • CPALL คาดแนวโน้มไตรมาส 3/67 เติบโต จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน แต่ลดลง จากไตรมาสก่อน ตามฤดูกาล โดย SSSG ของ CPALL ในช่วงไตรมาส 3/67 คาดยังคงเติบโต 2.5% แข็งแกร่งกว่ากลุ่มค้าปลีก โดยได้แรงหนุนจากการบริโภคที่ขยายตัว ผสานกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐฯ ที่เป็นแรงขับเคลื่อนเพิ่มเติม ซึ่งจะส่งต่อไปยังแนวโน้มไตรมาส 4/67 ที่จะกลับมาเร่งขึ้นทั้งจากไตรมาสก่อน และจากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน