นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า สำหรับผลกระทบต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ นั้น ส่วนตัวมองว่าไม่ว่าตัวแทนจากพรรคใดจะชนะและได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ ก็ล้วนแล้วแต่จะสร้างความผันผวนให้กับตลาดหุ้นโลก แต่ก็เชื่อว่าจะเป็นในระยะสั้นๆ เท่านั้น เพราะท้ายที่สุดภาคเอกชนก็ต้องปรับตัวรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้
โดยหากว่า "โดนัลด์ ทรัมป์" ชนะและเป็นประธานาธิบดี จะทำให้นักลงทุนมีความกังวลต่อเรื่องของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น และธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจชะลอการลดดอกเบี้ย ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่า
"เลือกตั้งสหรัฐฯ เมื่อทราบผล คาดว่าจะทำให้เม็ดเงินนักลงทุนต่างชาติไหลกลับเข้ามาในหุ้นไทย หนุนวอลุ่มตลาดกลับมาแตะเฉลี่ยวันละ 5 หมื่นล้านบาท จากต้นเดือนพ.ย. เฉลี่ย 3 หมื่นล้านบาท เพราะก่อนหน้านี้ไม่แน่ใจแนวทางเศรษฐกิจ ส่วนจีดีพีโค้งสุดท้ายของไทย ยังกังวล คือ ปัจจัยราคาน้ำมัน และค่าเงินบาท"
ขณะที่ภาพรวมภาวะตลาดหุ้นไทยในช่วงเดือนต.ค. 67 ยังคงมีปัจจัยเชิงบวกทั้งจากเรื่อง การเมืองไทยที่มีความชัดเจนมากขึ้นหลังมีการเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ ตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่รายงานออกมาเข้มแข็งกว่าที่นักวิเคราะห์คาด รวมถึงมาตรการที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนผ่านการเพิ่มเม็ดเงินลงทุนของผู้ลงทุนสถาบันในประเทศ
ซึ่งส่งผลทำให้ผู้ลงทุนสถาบันในประเทศพลิกกลับมาซื้อหุ้นไทยในเดือนต.ค. สูงสุดตั้งแต่เดือนมี.ค.63 นอกจากนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี คาดว่าจะเป็นอีกแรงสนับสนุนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจ และภาคเอกชนไทย ไปได้ต่อ
"ต้องยอมรับว่าตลาดหุ้นไทยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาปรับขึ้นมาแรงแล้ว การลงทุนหลังจากนี้อาจต้องเลือกหุ้นแบบ Selective ดูที่ Earning ไตรมาส 3 แม้ปัจจัยภายนอกอาจทำให้ตลาดหุ้นไทยผันผวน แต่แต่เชื่อว่าด้วยปัจจัยภายในประเทศ ทั้งเรื่องท่องเที่ยว และการย้ายฐานการผลิตช่วยหนุน"
ทั้งนี้ SET Index ที่ปรับเพิ่มขึ้น 2 เดือนต่อเนื่อง จากความมั่นใจการเมืองในประเทศ การจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ การเข้าซื้อกองทุน TESG เพื่อลดหย่อนภาษี แต่ภาพรวมเม็ดเงินลงทุนต่างชาติกลับไหลออก ซึ่งมีทิศทางเดียวกับตลาดภูมิภาคเอเชีย
เนื่องจากความกังวลเรื่องการเลือกตั้งสหรัฐฯ ซึ่งเม็ดเงินไหลเข้าไปพักในตลาดลงทุนสหรัฐฯ ขณะที่ประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนในอีก 12 เดือนข้างหน้าถูกนักวิเคราะห์ปรับลดลง ทำให้ Valuation ในตลาดหุ้นไทยค่อนข้างตึงตัว
ณ สิ้น เดือนต.ค. 67 SET Index ปิดที่ 1,466.04 จุด เพิ่มขึ้น 1.2% จากสิ้นเดือนก.ย. ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค ทำให้เมื่อเทียบกับสิ้นปี 66 SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.5% โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 66 มีเพียงกลุ่มเดียว ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี
ด้านมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 54,750 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.0% จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 47,332 ล้านบาท ลดลง 14.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
พร้อมกันนี้ มีบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ซื้อขายใน SET จำนวน 3 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. ปลูกผักเพราะรักแม่ (OKJ) บมจ. เมดีซ กรุ๊ป (MEDEZE) บมจ. ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล (TMAN) และใน mai 1 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ.ไทย ออโต ทูลส์ แอนด์ ดาย (TATG)
ขณะที่ Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนต.ค. 67 อยู่ที่ระดับ 16.1 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.9 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 17.8 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 13.7 เท่า และอัตราเงินปันผลตอบแทนอยู่ที่ระดับ 3.23% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.10%
สำหรับภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) เดือนต.ค. 67 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 509,144 สัญญา ลดลง 28.0% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ SET50 Index Futures และ Single Stock Futures และในช่วง 10 เดือนแรกของปี 67 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 478,270 สัญญา ลดลง 12.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ Single Stock Futures และ SET50 Index Futures