กูรูู ชี้ "ทรัมป์" คัมแบ็ค เทรดวอร์บันเทิงแน่ ย้ายฐานทุนอาจไม่ใช่คำตอบ

07 พ.ย. 2567 | 09:03 น.
อัปเดตล่าสุด :07 พ.ย. 2567 | 09:29 น.

จับตามหากาพย์สงครามการค้าสหรัฐฯและจีน หลังโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ พรรคริพับลิกันได้เสียงข้างมากทั้งสภาสูงและสภาล่าง จีนกางแผนรับมือเร่งย้ายฐานผลิต โบรกมองมุมกลับอาจกระทบต่อสินค้าจีนทะลัก อุดหนุนไทยน้อย ผู้ประกอบการไทยศักยภาพไม่พอแข่งขัน

จากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกมา นายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ (คนที่ 45) จากพรรครีพับลิกัน ได้คะแนนคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral college) ถึง 270 คะแนนก่อน เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ส่งผลให้ได้เป็นว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐฯ

การคว้าชัยชนะอีกครั้งในฐานะประธานาธิบดีคนที่ 47 ของทรัมป์ ถูกจับตาส่งผลให้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมืองในสหรัฐฯ และทั่วโลก ซึ่งการได้รับชัยชนะครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในการเมืองของสหรัฐฯ โดยทรัมป์ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการปฏิรูประบบเศรษฐกิจและความมั่นคงภายในประเทศ ฟื้นฟูและพัฒนาสหรัฐฯ

แน่นอนว่าสิ่งที่เป็นเป้าหมายของทรัมป์ คือ การผลักดันนโยบาย "อเมริกาต้องมาก่อน (America First)" เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจภายใน และลดการพึ่งพาเศรษฐกิจจากต่างประเทศ รวมถึงลดอิทธิพลของจีนต่อเศรษฐกิจโลกและเสริมสร้างความสัมพันธ์กับพันธมิตรในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอย่างรัดกุมยิ่งขึ้น

ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดมุมมองว่า จากการได้กลับเข้ามานั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้งของ "โดนัลด์ ทรัมป์" ส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation) ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า หุ้นสหรัฐฯ และบิทคอยน์ (Bitcoin) ที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นแข็งกว่าตลาด (Outperform)

นอกจากนี้ ความน่าจะเป็นที่รัฐบาลชุดใหม่จะเก็บภาษีนำเข้า (Tariff) มีสูงขึ้น และอาจอยู่ในระดับรุนแรงและรวดเร็วจากการที่พรรครีพับลิกันมีเสียงข้างมากทั้งในสภาสูงและสภาล่าง มอง Tariff ที่สูงขึ้นนี้ ย่อมทำให้แรงกดดันทางด้านราคาสินค้าในระดับโลกโดยเฉพาะสินค้าที่ถูกเก็บภาษีเพิ่ม มีโอกาสส่งผลผลักดันต่อแรงกดดันเงินเฟ้อในระดับโลกได้

ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด

ดังนั้น การเข้ารับตำแหน่งของทรัมป์ ในครั้งนี้สถานการณ์กระแสเงินทุนต่างชาติจึงย่อมมีความแตกต่างกว่าปีครั้งปี 2016 ที่อยู่ในสภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น และยังไม่มีใครเตรียมพร้อมในการรับมือนโยบายการตั้งกำแพงภาษีระหว่างสหรัฐฯและจีน แต่ด้วยประสบการณ์จากรอบก่อนทำให้เชื่อว่าผู้ประกอบการจีนเองก็มีการเตรียมพร้อมรับมือกันแล้วในระดับหนึ่ง

คาดการณ์ว่าจากนี้ความสนใจในการย้ายฐานผลิตของผู้ประกอบการจีนจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในเม็กซิโก และภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทยและเวียดนาม ในแง่ดีคือ ด้วยประเทศไทยมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ค่อนข้างครบวงจร ทำให้เพิ่มโอกาสในการข้ายฐานทุนเข้ามายังประเทศไทยก็มีเพิ่มมากขึ้นไปด้วย

แต่ความเสี่ยงของการย้ายฐานผลิตไปยังเม็กซิโกของผู้ประกอบการจีนเองก็มีไม่น้อย หากย้อนดูตัวเลขดุลการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะพบว่า ไม่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ดุลการค้ากับเม็กซิโกทางสหรัฐฯขาดดุลอยู่สูงมาก  ทำให้คาดว่าในอนาคตก็มีความเป็นไปได้สูงที่สหรัฐฯ จะหามาตรการทางภาษีมาใช้กับเม็กซิโกเพิ่มเติม

แม้ว่าประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากการตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ต่อจีน (เทรดวอร์) ที่สูงขึ้น แต่ในทางกลับกันต้องย้อนกลับมาพิจารณาตนเองด้วยว่าแล้วผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมรับมือแล้วหรือยัง การย้ายฐานผลิตเข้ามายังไทยเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ต้องไปดูด้วยว่าจีนจะอุดหนุนการใช้สินค้าไทยในกระบวนการผลิตมากน้อยแค่ไหน

เพราะแน่นอนว่าเมื่อมีการย้านฐานการผลิตของจีนเข้ามายังไทย ก็จะต้องมาพร้อมกับผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของอุตสาหกรรมนั้นๆ เชื่อว่าแม้มีการสั่งซื้อสินค้าไทยประกอบการผลิตบางส่วน แต่ก็ยังคงเป็นส่วนน้อยอยู่ และเป็นเพียงใช้แรงงานไทยในการประกอบ

"ต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการไทยยังไม่มีความพร้อมที่เพียงพอต่อการรับมือกับแนวโน้มสินค้าจีนที่จะล้นทะลักเข้ามายังไทย ในช่วงต้นปีนี้มีการทะลักมารอบหนึ่งแล้ว เราควรมองเห็นช่องโหว่ของตัวเองและเร่งพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทย ลดแรงเสียดทาน และลดต้นทุนลงได้ เพื่อให้สามารถสู้กับสินค้าจีนได้ ซึ่งจุดนี้อยากเสนอแนะให้ภาครัฐหามาตรการเร่งด่วนมาแก้ไข"

อย่างไรก็ตาม มองว่าเศรษฐกิจในประเทศไทยยังคงไปต่อได้ และค่อนข้างมีพื้นฐานที่ดีกว่าเมื่อเทียบประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย  หลักๆ เป็นผลมาจากมาตรการการลงทุนและการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ ที่มีแผนการเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง การท่องเที่ยวที่มีอัตราการเติบโตที่ดี ทำให้ทั้งเศรษฐกิจและกำลังซื้อมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้น

นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด (มหาชน) เผยมุมมองต่อสถานการณ์เทรดวอร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้่นหลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ และพรรค Republican ได้เสียงข้างมากทั้งสภาสูงสภาล่าง ในครั้งนี้ มองว่าจะได้เห็นภาพของการเกิดสงครามการค้าครั้งใหญ่กว่าครั้งก่อนแน่นอน และดูท่าทีของจีนเองก็เหมือนจะเตรียมพร้อมโต้ตอบกลับเช่นเดียวกัน

แม้ในระยะอันใกล้นี้จะเห็นการปรับขึ้นกำแพงภาษีสินค้าจีนที่ประมาณ 20% แต่ในระยะถัดไปเชื่อว่าทรัมป์จะทำได้ตามสัญญาที่วางเป้าหมายเพิ่มกำแพงภาษีถึง 60% แน่นอนว่าผลกระทบอาจลุกลามไปถึง GDP โลกที่อาจหดตัวลง 1-1.5% และ GDP จีนอาจลดลงมากกว่า 1-2%

จากปัจจัยดังกล่าวทำให้มองว่าประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบดังกล่าวไปด้วย เมื่อเศรษฐกิจจีนแย่ลง คำสั่งซื้อของจีนก็ลดลงตาม

อย่างไรก็ดี ไทยควรชั่งน้ำหนักให้มาก เพราะสัดส่วนส่งออกไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ อยู่ที่กว่า 17.5-18% ของการส่งออกทั้งหมดในปี 2566 ซึ่งสูงกว่าจีน และที่ผ่านมาการนำเข้าของสหรัฐฯ มีส่วนช่วยการส่งออกไปค่อนข้างมาก

หลายคนอาจมองว่าเมื่อเกิดสงครามการค้า จีนก็จะย้ายฐานทุนไปยังประเทศอื่นและไทยอาจได้รับอานิสงส์ดังกล่าวไปด้วย แต่ส่วนตัวมองว่านี่อาจเป็นเพียงผลบวกในระยะสั้นเท่านั้น และระยะถัดไปก็มีโอกาสที่สหรัฐฯ อาจหานโยบายมาจัดการกับประเทศที่เป็นฐานการผลิตของจีนเพิ่มเติมในอนาคต ซึ่งไทยอาจได้ผลกระทบตามไปด้วย