สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา หุ้นใหญ่ตัวหนึ่งได้กลายเป็นประเด็นที่ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดในตลาดหลักทรัพย์ไทย ด้วยน้ำหนักที่สูงในดัชนี SET (ประมาณ 10% ของ Market Capitalization ทั้งตลาด) ทำให้การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อดัชนีตลาดหุ้นโดยรวม
ปัญหาหลักของหุ้นดังกล่าวไม่ได้อยู่ที่ขนาด แต่มาจากการที่หุ้นนั้นมีการกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) ค่อนข้างต่ำ ซึ่งหมายความว่าจำนวนหุ้นที่ซื้อขายได้จริงในตลาดมีน้อย ราคาจึงสามารถผันผวนได้มาก และเมื่อเป็นหุ้นขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีตลาดหลักทรัพย์ได้มาก ไม่ว่าจะเป็น SET Index SET50 Index หรือ SET100 Index เป็นต้น
ซึ่งส่งผลให้กองทุนรวมที่ลงทุนตามดัชนี (Index fund) หรือกองทุนรวม/กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่ใช้ดัชนีดังกล่าวเป็นอัตราอ้างอิงในการวัดผลตอบแทน (Benchmark) จำเป็นต้องลงทุนในหุ้นนั้น เพื่อให้กองทุนมีผลตอบแทนที่สอดคล้องกับดัชนี และยิ่งเป็นแรงผลักให้ปัญหาความผันผวนของราคาและปัญหา Free Float ต่ำของหุ้นยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น
เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากหุ้นที่มี Free Float ต่ำดังกล่าว ทางตลาดหลักทรัพย์จึงได้เปิดตัวดัชนี SET50FF (SET50 Free Float Adjusted Market Capitalization Weighted Index) และดัชนี SET100FF (SET100 Free Float Adjusted Market Capitalization Weighted Index) เมื่อเดือนมกราคม 2567 ซึ่งเป็นดัชนีที่ปรับน้ำหนักของหุ้นแต่ละตัวตามสัดส่วน Free Float ทำให้นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนในกองทุนที่ลงทุนตามดัชนีนี้ได้ เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาหุ้นที่เป็นองค์ประกอบในดัชนีที่มี Free Float ต่ำได้
ทำไม SET50FF SET100FF จึงสำคัญ?
การอ้างอิงดัชนีของกองทุนรวม/กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตัวเร่งปัญหาที่แก้ไขได้
Index fund เป็นทางเลือกสำคัญที่ช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้ตามสภาพตลาดโดยรวม ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ควรเลือกดัชนีที่ติดตาม (Track) ให้สอดคล้องกับความสามารถในการลงทุนได้จริง (Investable) ด้วย เมื่อตลาดหลักทรัพย์ได้จัดทำดัชนี SET50FF และ SET100FF ที่สะท้อนสภาพคล่องของหุ้นที่สามารถลงทุนได้จริงแล้ว และคำนวณโดยใช้ผลตอบแทนรวม (TRI) บลจ. ที่ประสงค์จะจัดตั้ง Index fund ใหม่ จึงควรเลือกดัชนีดังกล่าวในการติดตามลงทุน
ส่วน Index fund ที่มีการจัดตั้งอยู่แล้ว สามารถเปลี่ยนแปลงดัชนีที่ติดตามให้เป็นดัชนี FF ได้ ด้วยการแก้ไขนโยบายการลงทุน สำหรับกองทุนรวมอื่นที่มีการอ้างอิงดัชนี SET Index SET50 หรือ SET100 เป็น benchmark ในการวัดผลตอบแทนกองทุน และต้องการลดแรงกดดันจากความผันผวนของหุ้นข้างต้นเพื่อรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน บลจ. สามารถเปลี่ยนแปลง Benchmark เป็นดัชนี FF ได้ตามความเหมาะสม โดยเปิดเผยข้อมูล แจ้งวันที่มีผลให้ผู้ลงทุนทราบล่วงหน้า
พร้อมทั้งอธิบายเหตุผลและผลกระทบ ผ่านช่องทางที่ระบุในหนังสือชี้ชวนของกองทุนรวม นอกจากนี้ สำหรับกรณีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คณะกรรมการกองทุนและ บลจ. ก็สามารถทบทวนและเปลี่ยนแปลง Benchmark เป็นดัชนี FF ได้ตามความเหมาะสมเช่นกัน
การเปิดตัวดัชนี SET50FF และ SET100FF นับเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาตลาดทุนไทยให้มีความสมดุลและสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงมากยิ่งขึ้น ดัชนีเหล่านี้ช่วยลดปัญหาความผันผวนของดัชนีที่เกิดจากหุ้นขนาดใหญ่ที่มี Free Float ต่ำ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยเพิ่มเสถียรภาพให้ตลาดหุ้นไทย
เพื่อให้ดัชนีดังกล่าวเกิดประโยชน์สูงสุด ผู้จัดการกองทุนควรพิจารณานำดัชนีที่ปรับด้วย Free Float มาใช้เป็น Benchmark แทนดัชนีเดิม รวมถึงการสื่อสารกับผู้ถือหน่วยลงทุน คณะกรรมการกองทุนและสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้วแต่กรณี อย่างโปร่งใสเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
ทั้งนี้ การดำเนินงานร่วมกันระหว่างผู้กำกับดูแล ผู้จัดการกองทุน และนักลงทุน รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้อง จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างตลาดทุนไทยให้มีเสถียรภาพและน่าเชื่อถือในระยะยาว