"อัสสเดช" กางแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี ขับเคลื่อนตลาดทุนไทย

28 พ.ย. 2567 | 08:23 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ย. 2567 | 08:23 น.

"อัสสเดช คงสิริ" กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ กางแผน 3 ปี (ปี 68-70) สร้างโอกาสเพื่อส่วนรวมในการเข้าถึงการลงทุนและการระดมทุนอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง ผ่าน 3 โครงการ flagship ในการขับเคลื่อนตลาดทุน

นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า แผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (ปี68-70) ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายใต้แนวคิด “เพื่อส่วนรวมและความเท่าเทียม” (Fair & Inclusive Growth) โดยจะมุ่งสร้างความแข็งแกร่งเข้าถึงได้ง่ายและสร้างประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน พร้อมปรับตัวท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจและตลาดทุนโลก

โดย 3 โครงการ flagship ในการขับเคลื่อนตลาดทุนในช่วง 3 ปีข้างหน้า ประกอบด้วย

  1. สนับสนุนการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ผ่านโครงการ Jump+,
  2. เพิ่มโอกาสให้ผู้ลงทุนบุคคลและประชาชนทั่วไปเข้าถึงการลงทุนพันธบัตรรัฐได้ง่ายขึ้นและขยายธุรกิจของผู้ร่วมตลาดด้วยการพัฒนา Bond Connect Platform และ
  3. พัฒนาระบบนิเวศคาร์บอนผ่านตลาดคาร์บอนเครดิตด้วย Carbon Market Platform อย่างไรก็ตามทั้ง 3 โครงการจะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 68 แน่นอน

ตลาดหลักทรัพย์ฯ กาง 3 ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนตลาดทุน

3 กลยุทธ์หลักในการดำเนินการ

1. มุ่งมั่นเพื่อโอกาสการเติบโต (Enable Growth Ambitiously)
ในส่วนของการเพิ่มความน่าสนใจด้านบริษัทจดทะเบียน จะริเริ่มโครงการ "Jump+" เพื่อสร้างการเติบโตให้กับตลาดทุนไทย โดยเฉพาะการเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัทจดทะเบียน ที่จะเน้นบริษัทที่มีศักยภาพและมีความมุ่งมั่นในการเพิ่มมูลค่าของบริษัทโดยบริษัทจดทะเบียนสามารถเข้าร่วมตามความสมัครใจ

ในขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสนับสนุนให้เกิดพัฒนาการด้านการดำเนินงาน การขับเคลื่อนความยั่งยืนตามหลัก ESG การใช้เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ (AI) บริการให้คำปรึกษาและเพิ่มช่องทางสื่อสารกับผู้ลงทุนเพื่อช่วยเพิ่มความน่าสนใจ และการรับรู้ให้แก่ผู้ลงทุน รวมทั้งสิทธิประโยชน์จากทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานพันธมิตร

อัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

ในขณะเดียวกันทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังเตรียมพัฒนาดัชนีใหม่ที่จะช่วยสะท้อนผลการดำเนินงานของบริษัทที่ประสบความสำเร็จจากโครงการ Jump+ และร่วมกับสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) จัดทำบทวิเคราะห์เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจลงทุน โดยสร้างความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่น ด้วยการนำ AI มาใช้ในงานด้านกำกับบริษัทจดทะเบียน

หลักๆ เพื่อเป็นการติดตามเฝ้าระวัง ดำเนินมาตรการ และแจ้งเตือนแก่ผู้ลงทุนอย่างทันท่วงที พร้อมขยายองค์ความรู้ด้านบรรษัทภิบาล (corporate governance) สร้างความเข้าใจกลไกตลาดทุนแก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีการประเมินประสิทธิผล และทบทวนมาตรการให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน

และส่งเสริมและขยายการใช้ผลิตภัณฑ์ตลาดทุน นำเสนอข้อมูลและบริการที่ตอบโจทย์รองรับผู้ลงทุนที่หลากหลายและแตกต่าง พร้อมกับพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับการบริหารพอร์ตและการลงทุนทุกสถานการณ์ และขยายเวลาซื้อขายผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศ ควบคู่กับการดึงดูดผู้ลงทุนสถาบันต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง ผ่านการนำเสนอข้อมูล (roadshow) ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

2. ร่วมพัฒนา เพื่อความทั่วถึง (Grow Together & Inclusively)

โดยสนับสนุนการทำงานของผู้ร่วมตลาด พัฒนา Bond Connect Platform เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ลงทุนบุคคลเข้าถึงการลงทุนพันธบัตรรัฐบาลในตลาดแรกและตลาดรองได้ง่ายขึ้น โดยผู้ลงทุนบุคคลสามารถจองซื้อพันธบัตรรัฐบาลในตลาดแรกในลักษณะเดียวกับการจองซื้อหุ้น IPO และยังสามารถซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลในตลาดรองผ่าน Platform พร้อมทั้งสามารถนำไปใช้เป็นหลักประกันสำหรับการลงทุนสินทรัพย์ประเภทอื่นได้

โดยมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหนึ่งในโครงสร้างดังกล่าว ได้แก่ การพัฒนาระบบชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ใหม่ (SET Clear) กำหนดเริ่มให้บริการในปี 70 และขยายความร่วมมือในรูปแบบ IT service partnership อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการขยายธุรกิจของตลาดหลักทรัพย์ฯ และผู้ร่วมตลาด

รวมถึงขยายการสื่อสารแก่ผู้ลงทุนและประชาชน เน้นการสื่อสารที่เข้าถึง ทั่วถึง สร้างความเข้าใจในประเด็นที่ผู้ลงทุนควรรู้แบบเข้าใจง่ายและทันการณ์ ผ่านช่องทางใหม่ๆ ด้วยสื่อ และกิจกรรมร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรทุกภาคส่วน พร้อมเตือนประชาชนให้รู้เท่าทันมิจฉาชีพหลอกลงทุนในรูปแบบต่างๆ

3. สรรสร้างคนและอนาคต (Groom People & Our Future)

โดยพัฒนาระบบนิเวศเพื่อการเรียนรู้ทางการเงิน สร้างคนรุ่นใหม่ (Next Gen) ประกอบด้วย ผู้ลงทุน ผู้ประกอบวิชาชีพ ภาคการศึกษา และ Influencer ที่มีความรู้ความเข้าใจด้านการเงิน การลงทุน

พร้อมทั้งนำเสนอ SET Learn Scape Platform ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มรองรับกระบวนการการเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคลเพื่อพัฒนาบุคลากรบริษัทจดทะเบียน ช่วยสร้างศักยภาพพนักงาน เสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ทั้ง 2 โครงการจะร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อนำเสนอเนื้อหาความรู้ให้กลุ่มเป้าหมายมีภูมิคุ้นกันด้านการเงินและการลงทุน

สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ low carbon economy ร่วมกับพันธมิตร ด้วยการออกแบบรูปแบบ Carbon Market Platform ที่เหมาะสม เพื่อรองรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตทั้งในตลาดภาคบังคับ (Compliance market) และภาคสมัครใจ (Voluntary market) พัฒนาเครื่องมือในการคำนวณ Carbon Footprint ขององค์กร (SET Carbon)

พร้อมสนับสนุนการสร้างหลักสูตรและจัดสอบผู้ทวนสอบ (Verifier) เพื่อส่งเสริมการมุ่งสู่ Low Carbon Economy และ Net Zero ในปี 93 เตรียมพร้อมคน ปรับวิถีงาน ตอบโจทย์อนาคต เพื่อเสริมสร้างทักษะด้านดิจิทัลโดยเฉพาะ AI แก่พนักงาน เตรียมความพร้อมพัฒนาบุคลากรทุกระดับขับเคลื่อนองค์กรสู่อนาคต

"ก้าวสู่ทศวรรษที่ 6 ตลาดหลักทรัพย์ฯพร้อมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยการมุ่งสร้างโอกาสการเติบโตอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ผ่านนวัตกรรมและบริการที่ตอบโจทย์ทุกภาคส่วน ควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนของตลาดทุนและเศรษฐกิจไทย สอดรับกับเป้าหมาย 'To Make the Capital Market Work for Everyone'” 

นอกจากนี้ แผนการนำบริษัทใหม่ๆ เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้นพบว่า ปัจจุบันมีบริษัทเข้ามายื่นไฟลิ่งในกระบวนการแล้ว 33 บริษัท ส่วนการดึงดูดบริษัทเข้ามาเพิ่มเติมในอนาคตก็กำลังจัดทำแผนงาน ซึ่งทีมงานกำลังวิเคราะห์กันว่าจะสร้างแพลตฟอร์มอะไรที่เหมาะสม

รวมถึงภายในอาทิตย์หน้าจะมีการพูดคุยกับตลาดหุ้นเกาหลีใต้และตลาดหุ้นตุรกี ซึ่งมีการทำรูปแบบแพลตฟอร์มที่สนับสนุนให้กลุ่มสตาร์อัพมาแสดงตัวตนเพื่อให้ผู้ลงทุนพบเห็นได้ง่ายขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการเสริมสร้างตลาดทุนในอนาคต