จากกรณีที่ทางกระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำลังจะเสนอร่างพระราชกำหนดแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา
สาระสำคัญของร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉบับดังกล่าวคือ การเพิ่มหมวดใหม่ เรื่อง "การสืบสวนและสอบสวนโดยพนักงานเจ้าหน้าที่" โดยให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สามารถสืบสวนและสอบสวนความผิดบางประเภทได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องรอการทำงานของตำรวจเหมือนที่ผ่านมา
โดยการเพิ่มอำนาจให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. สามารถสืบสวนและสอบสวนคดีอาญาได้เองนี้ เป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต ที่การดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับความผิดในตลาดทุนมีความล่าช้า เนื่องจากพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ซึ่งมีความซับซ้อน และต้องใช้ความรู้เฉพาะทางนั้น
นายประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ จำกัด เปิดเผยว่า ส่วนตัวนั้นเห็นด้วยที่จะขยายอำนาจให้กับ ก.ล.ต. ในการสืบสวนและสอบสวนคดีอาญาได้เอง รวมถึงสามารถสั่งฟ้องได้เมื่อมีหลักฐานว่าบริษัทจดทะเบียน (บจ.) กระทำผิด ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า พ.ร.ก. เป็นอำนาจของฝ่ายรัฐบาลในการออกกฎหมายเพื่อให้เท่าทันต่อสถานการณ์ ณ ปัจจุบันที่เกิดขึ้น
โดยเฉพาะในเรื่องเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับการเงินและความมั่นคงของประเทศ ซึ่งแม้จะเป็น พ.ร.ก. แต่ท้ายที่สุดก็ต้องนำเรื่องเข้าสภา เพื่อเสนอออกเป็น พรบ. อยู่ดี
การที่ ก.ล.ต. มีอำนาจที่มากขึ้น เป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้การปราบปราม บจ. ที่กระทำไม่ดี โดยดึงเอากฎหมายเข้ามาช่วยสกัดกั้นให้เร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดขั้นตอนต่างๆ ที่ทำให้การดำเนินคดีมีความล่าช้า จะเห็นได้ว่าคดีที่ผ่านๆ มาดำเนินการล่าช้าไปมาก จนคนที่กระทำผิดหนีหายไปไหนต่อไหนแล้ว
ถามว่าการเพิ่มอำนาจเบ็ดเสร็จให้กับ ก.ล.ต. นั้น จะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นให้กลับคืนสู่ตลาดทุนไทยได้หรือไม่นั้น มองว่าในเรื่องนี้อาจต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจของนักลงทุน และการแสดงถึงประสิทธิภาพที่ชัดเจนว่าอำนาจที่ได้มาสามารถดักทางก่อนเกิดปัญหาได้จริงและทันท่วงที
ส่วนประเด็นว่าการเพิ่มอำนาจเบ็ดเสร็จให้กับ ก.ล.ต. นั้น จะกลายเป็นเหมือนดาบ 2 คม ถูกใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมืองหรือไม่นั้น ส่วนตัวมองว่าก็ต้องดูที่อำนาจขอบเขตว่าท้ายที่สุดแล้ว ก.ล.ต. จะได้อำนาจในด้านไหนเพิ่มขึ้นมาบ้าง แต่อย่างไรก็ดี หากอำนาจอยู่ในมือคนที่ไม่ดี ผลก็ออกมาไม่ดี แต่ในเวลานี้ "จะเลือกให้โจรเหิมเกริม หรือตำรวจที่ฮึกเหิมมากกว่ากัน"
"อำนาจเดิมที่ ก.ล.ต. แม้ว่ามีมาก แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะดักทางปัญหาได้ ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นบานปลายไปมาก แน่นอนว่าทุกเรื่องใหม่ย่อมมีความคิดเห็นที่ทั้งเห็นด้วยและคัดค้าน แต่ในเวลานี้มองว่าอะไรก็ได้ที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยมันดีขึ้น ก็ควรเร่งทำ ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าในเรื่องของการเอาเปรียบจากช่องโหว่ในตลาดทุนมีอยู่มาก ความเชื่อมั่นก็เสื่อมถอยลง ตลาดเละเทะมามากแล้ว ถึงเห็นควรว่าการดำเนินคดีถ้าทำได้เร็วและเห็นผลก็เป็นเรื่องที่ดี"
ด้านนายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐาน บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด (Liberator) ให้มุมมองว่า ส่วนตัวมองเป็นกลางต่อประเด็นการขยายอำนาจให้กับ ก.ล.ต. และเป็นเรื่องที่เหมือนเหรียญ 2 ด้าน ก็มีทั้งด้านที่ดี คือความเร็วในการดำเนินคดี ซึ่งก็เป็นเรื่องดีต่อการดักทางก่อนที่จะเกิดปัญหา
แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงอยู่ หากว่าไม่มีการคัดค้านอำนาจเลยก็แอบหน้ากลัว ซึ่งจากนี้ก็ต้องรอดูต่อไปว่าอำนาจที่ได้มาจะมากน้อยแค่ไหน และจะเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินคดีได้เร็วขึ้นจริงหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลา
ถามว่าเมื่อ ก.ล.ต. มีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนและสั่งฟ้องคดีอาญาเกี่ยวกับความผิดในตลาดทุนแล้ว ความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นไทยจะกลับมาดีขึ้นหรือไม่นั้น ต้องยอมรับว่าที่ตลาดขาดความเชื่อมั่น และยังไม่มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวกลับมานั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากข่าวร้ายๆ ของบจ. ที่มีมาให้เห็นเรื่อยๆ
ปัญหาเดิมๆ ยังวนกลับมาซ้ำๆ ให้ได้เห็นอยู่ การจัดการปัญหาของทั้ง ก.ล.ต. และ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ผ่านมายังคมไม่พอ เมื่อไม่คมการเดินเรื่องที่ผ่านมาก็เหมือนไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าผลงานที่ผ่านมายังไม่โดดเด่นเข้าตา
แหล่งข่าววงในอุตสาหกรรม เผยว่า ปัจจุบันอำนาจของ ก.ล.ต. ที่มีอยู่แล้วในมือก็มีเยอะมากแล้ว แต่ก็แทบไม่ได้ช่วยอะไรเลยในช่วงที่ผ่านมา การปราบปรามดำเนินการไปตามหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ดักทางปัญหาจึงบานปลาย ถ้า ก.ล.ต. ทำหน้าที่ได้ดี ก็เครียปัญหาได้ไวขึ้น แต่ที่ผ่านมาก็ไม่ได้เด่นเข้าตาขนาดนั้น
ดังนั้น นักลงทุนจึงเลิกตั้งความหวังกับประเด็นนี้ คนไม่ได้ไม่เชื่อมั่นแค่เพียงตลาดทุนไทย แต่ยังไม่เชื่อมั่นในองค์กรที่กำกับดูและร่วมด้วย เมื่อพูดถึงเรื่องความเชื่อมั่นแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่มองเห็น คือ เรื่องของการให้เครดิตบจ. เช่น XY ทำดีได้ A นั้นก็เป็นเรื่องที่เหมาะสม แต่ในขณะที่ YZ ทำได้ไม่ดีเท่า XY แต่ได้ A เหมือนกัน แล้วนักลงทุนจะเชื่อมั่นได้อย่างไร