SABUY ทุ่ม 5 พันล้าน ปิดดีล 3 บริษัท จ่อซื้อหุ้น AsiaSoft เพิ่ม

15 พ.ค. 2566 | 03:00 น.

SABUY เล็งประกาศร่วมลงทุนปีนี้อีก 2-3 ดีล มูลค่า 5 พันล้านบาท พร้อมชงผู้ถือหุ้น 1 มิ.ย.นี้ อนุมัติเข้าซื้อหุ้น AsiaSoft เพิ่ม หวังเป็นเรือธงบริษัท มั่นใจปี 66 รายได้ตามเป้า 2 หมื่นล้านบาท

ผลจากการจัดวางยุทธศาสตร์ของกลุ่มบริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) SABUY โดยครอบคลุมเกือบ 70 บริษัทภายใต้ 6 กลุ่มธุรกิจหลัก(6Pillar)คือ

  1. กลุ่มบริการเชื่อมต่อ (Connext) เป็นจุดเชื่อมระหว่างสบายกับผู้บริโภค
  2. กลุ่มเอ็นเตอร์ไพร์ส (Enterprise & Life)
  3. กลุ่มเพย์เม้นท์และวอลเล็ต
  4. บริการการเงิน(Financial Inclusion)
  5. กลุ่มอินโนเทนเม้นท์ (Innovative Entertainment)
  6. กลุ่มธุรกิจร่วมลงทุน (Venture Capital)

นายชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY เปิดเผยว่า ปีนี้จะเห็นการประกาศร่วมลงทุนอีก 2-3 ดีล คาดใช้เงินลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยแหล่งเงินทุนส่วนหนึ่งจะมาจากการขายสินทรัพย์บริษัทย่อย คือ บริษัท สบาย สปีด จำกัด (SABUY SPEED) ออกไปบางส่วน จากปัจจุบัน SABUY ถือหุ้น 82% และขายที่ดินของ บมจ.สบาย คอนเน็กซ์ เทค (SBNEXT) หรือเดิมคือ บมจ.เธียรสุรัตน์ (TSR) ซึ่งมีมูลค่า 1,000 ล้านบาท

SABUY ทุ่ม 5 พันล้าน ปิดดีล 3 บริษัท จ่อซื้อหุ้น AsiaSoft เพิ่ม

 

“บริษัทยังคงวางงบลงทุนรวมปีนี้ไว้ที่ 10,000 ล้านบาท โดยจะลงทุนใน 5 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กลุ่ม Smart Solution (สมาร์ตโซลูชัน), กลุ่ม Payments (การชำระเงิน), กลุ่ม Touchpoints (จุดพบเจอกับผู้บริโภค), กลุ่ม Commerce (กลุ่มพาณิชย์) และกลุ่ม Financial Services (บริการทางการเงิน) ซึ่งในดีลใหม่ทั้ง 2-3 ดีลจะอยู่ใน 5 กลุ่มดังกล่าว”นายชูเกียรติกล่าว

SABUY ทุ่ม 5 พันล้าน ปิดดีล 3 บริษัท จ่อซื้อหุ้น AsiaSoft เพิ่ม

ขณะที่ความคืบหน้าการร่วมมือธุรกิจกับบริษัท เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AsiaSoft นั้น SABUY มีการทำแผนธุรกิจร่วมกันตั้งแต่ปี 2565 ที่ผ่านมา และขณะนี้จะมีธุรกิจที่ทำร่วมกันอีก ซึ่งจะมีกระบวนการที่บริษัทจะปรับโครงสร้าง และ AsiaSoft จะเป็นเรือธงของบริษัท โดยมีธุรกิจที่เสริมเข้าไปใน AsiaSoft

อย่างไรก็ดี จะต้องรอความชัดเจนจากการประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ เพื่อขออนุมัติเข้าซื้อหุ้น AsiaSoft ก่อน เพราะส่วนนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในกระบวนการว่า SABUY จะสามารถเข้าไปซื้อหุ้น AsiaSoft เพิ่มได้หรือไม่ เพราะปัจจุบันบริษัทมีการถือหุ้นของ AsiaSoft อยู่ที่ประมาณ 24%

ส่วนการลงทุนใน บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) ก่อนหน้านี้คณะกรรมการบริษัทมีมติลดสัดส่วนการถือครองหุ้นลง จึงมีการขายหุ้นออกไปบางส่วน จนปัจจุบันคงเหลือถือหุ้นน้อยกว่า 5 ล้านหุ้น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตแบงก์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงสนใจลงทุนใน SINGER เพื่อสร้างความร่วมมือทางธุรกิจ (Synergy) แต่ขอรอดูงบการเงินของ SINGER ในไตรมาส 1 และ 2 นี้ก่อน

ด้านนายณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานบัญชีเเละการเงิน SABUY กล่าวว่า แนวโน้มการเติบโตของ SABUY ในไตรมาส 2 ของปี 2566 ยังคงมองว่า จะสามารถรักษารายได้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ทั้งปี 20,000 ล้านบาท แม้แนวโน้มสภาวะเศรษฐกิจทางด้านการซื้อจะลดลง แต่บริษัทมีการกระจายแหล่งรายได้ที่หลากหลาย จึงทำให้สามารถฝ่ามรสุมปีนี้ไปได้

นายณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานบัญชีเเละการเงิน SABUY

“บางธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ เช่น ธุรกิจตู้เติมเงินที่มีผู้ใช้บริการลดลง เนื่องจากประสบปัญหาค่าครองชีพและค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น รวมไปถึงความต้องการใช้แรงงานด้านส่งออกลดลง จากยอดการส่งออกชะลอตัว ซึ่ง SABUY เห็นแนวโน้มรายได้บางธุรกิจของบริษัทลดลง แต่จากการกระจายการลงทุนจึงสามารถฝ่ามรสุมปีนี้ไปได้และมั่นใจว่า จะสามารถรักษารายได้ตามเป้าหมายได้ที่ 20,000 ล้านบาท”

ขณะที่แนวโน้มสัดส่วนรายได้ในปี 2566 แต่ละกลุ่มธุรกิจของ SABUY นั้น คาดว่า ด้านของธุรกิจ Innotainment & Infrastructure รายได้มากกว่า 6,000 ล้านบาท, ธุรกิจ Machine/Kiosk ประมาณ 3,000 ล้านบาท, ธุรกิจ Consumer Merchandising ราว 3,200 ล้านบาท, ธุรกิจ Drop Off Shop & Service มากกว่า 3,300 ล้านบาท, ธุรกิจ Solution & Platform ไม่น้อยกว่า 3,500 ล้านบาท, และธุรกิจ Financial Service รายได้กว่า 1,000 ล้านบาท

“หากถามว่าทำไม SABUY เติบโตในด้าน Innotainment & Infrastructure เยอะ เนื่องจากช่วงจากตอนนี้ไปจนถึงต้นไตรมาส 3 จะมีการร่วมมือกับ AsiaSoft ที่จะเข้ามา และจะมีการทำเรื่องคลาวน์ ที่มีฟีลเจอร์ราคาตอบโจทย์ธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม รวมทั้งจะมีเพย์เม้นต์เข้ามาร่วมด้วย”

บริษัทมีเป้าหมายที่จะลงทุนใน GHL Systems Berhad (GHL) ในมาเลเซียสัดส่วน 30% จากที่ผ่านมาได้ลงทุนซื้อหุ้น GHL 5% แล้ว โดย GHL เป็นผู้ให้บริการ Online Payment Gateway ซึ่งสามารถเชื่อมโยงช่องทางชำระเงินในภูมิภาคได้ รวมถึงบริการคอลเซ็นเตอร์หรือบริการ อีวอลเล็ตที่มีอีโคซิสเต็มครอบคลุมทั้ง 5 ประเทศ (เหมือนพร้อมเพย์) คือ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และไทย

 “จะเห็นว่า ที่ผ่านมากลุ่ม SABUY เน้นการเติบโตธุรกิจจากภายนอกหรือ Inorganic Growth เพราะหากเติบโตจากภายในหรือ Organic Growth จะเติบโตไม่ทัน ดังนั้นการโตทางลัดจะลงทุนในธุรกิจไม่ใช่ซื้อบริษัท ผ่านกระบวนการซื้อกิจการ ร่วมลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนในธุรกิจที่มีอนาคต ภายใต้หลักการสร้างความมั่นคงกับกลุ่มและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของประชาชน” นายณรงค์ชัย กล่าว

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,887 วันที่ 14 - 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2566