Virtual Bank หรือ ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา นับเป็นหนึ่งในนวัตกรรมทางด้านบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ นั่นคือ การให้บริการทางการเงินต่อผู้บริโภคผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก โดยจะต้องไม่มีการจัดตั้งสาขาเหมือนในปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างจัดทำหลักเกณฑ์การคัดเลือกและกำกับดูแล
ล่าสุด ผู้ว่าการ ธปท. “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ระบุถึงความก้าวหน้า ว่า ธปท.เตรียมส่งร่างประกาศหลักเกณฑ์ และคู่มือการสมัคร ให้กับกระทรวงการคลังพิจารณาภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม 2566 นี้ หลังรับฟังความเห็นจากสาธารณชน 2 ครั้งแล้ว
เบื้องต้นน่าจะเปิดรับสมัครได้ภายในสิ้นปี 2566 เบื้องต้นกำหนดจะประกาศรายชื่อออกมาได้ภายในปี 2567 ก่อนเริ่มดำเนินการประมาณ 2568 ตามแผนที่ตั้งไว้
Virtual Bank คืออะไร ต่างจากธนาคารดั้งเดิมที่มีบริการ mobile / internet banking อย่างไร
Virtual Bank คือ ธนาคารพาณิชย์รูปแบบใหม่ที่ไม่มีสาขา โดยให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก ซึ่งผู้ขอจัดตั้ง Virtual Bank ต้องมี ความเชี่ยวชาญในการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล และนำเทคโนโลยี/ข้อมูลที่หลากหลายทั้งข้อมูลทางการเงินและข้อมูลทางเลือก เช่น
พฤติกรรมการใช้จ่าย มาใช้ประเมินความเสี่ยงและวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถนำเสนอบริการทาง การเงินรูปแบบใหม่ (new value proposition) แก่ลูกค้ากลุ่มต่าง ๆ ได้ครบวงจรและเหมาะสม
ขณะที่ mobile / internet banking ของธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมเป็นเพียงหนึ่งในช่องทางการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเท่านั้น
ทั้งนี้ ธปท. อยากเห็น Virtual Bank เป็นผู้เล่นประเภทใหม่ที่สามารถตอบโจทย์การให้บริการแก่ลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้บริการรายย่อย และกลุ่ม SME ที่ยังไม่ได้รับหรือเข้าถึงบริการทางการเงินได้เพียงพอ และช่วยกระตุ้นการแข่งขันในระบบธนาคารพาณิชย์ อย่างเหมาะสม โดยไม่สร้างความเสี่ยงต่อระบบการเงิน
ดังนั้น จึงควรเริ่มจากจำนวนไม่มาก และต้องมีขนาดใหญ่พอที่จะแข่งขันกับผู้เล่นรายเดิมและอยู่รอดได้ เพราะ Virtual Bank ทำธุรกิจรับฝากเงินจากประชาชน หากไม่สามารถอยู่รอดจนต้องปิดกิจการไป จะกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในวงกว้างได้
Virtual Bank ระยะแรกแค่ 3 ราย
ธปท. ระบุด้วยว่า ในการเปิดให้จัดตั้ง Virtual Bank จำนวนไม่เกิน 3 ราย ในระยะแรก ถือเป็นสัดส่วนค่อนข้างสูงแล้วเทียบกับจำนวน ธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่เดิมในระบบ หลายประเทศที่มีจำนวน ธนาคารพาณิชย์สูงกว่าไทย เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ยังอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ได้เพียง 3-5 รายเท่านั้น
การมี ธนาคารพาณิชย์ จำนวนมากอาจไม่ได้ช่วยให้ประชาชนได้รับดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง เพราะการกำหนดดอกเบี้ยของ ธนาคารพาณิชย์ มักขึ้นกับความเสี่ยงของลูกหนี้เป็นหลัก ในทางกลับกัน อาจทำให้การแข่งขันรุนแรงจนบางรายไม่สามารถอยู่รอดได้และกระทบความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการ หรือสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน เช่น เพิ่มการแข่งขันในตลาดสินเชื่อรายย่อย จนกระตุ้นการก่อหนี้เกินตัวและซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือน
ทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ Virtual Bank
ประเด็นการกำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำของ Virtual Bank ไว้ที่ 5,000 ล้านบาทในช่วงแรก ธปท. ตั้งใจว่า จะให้ Virtual Bank มีขนาดใหญ่พอที่จะแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมได้ และสามารถรองรับผลประกอบการในช่วงปีแรก ๆ ที่อาจขาดทุนสูงถึง 1,000 ล้านบาทต่อปีอย่างที่เคยเห็นในต่างประเทศ จากทั้งค่าใช้จ่ายการลงทุนในระบบงานดิจิทัลที่ค่อนข้างสูง ขณะที่รายได้ยังไม่มาก เพราะต้องใช้เวลาในการขยายฐานลูกค้า
โดย Virtual Bank ในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี กว่าจะทำกำไรได้ ขณะที่บางรายไม่สามารถอยู่รอดได้และต้องปิดตัวไปแม้มีทุนราว 3,000 – 5,000 ล้านบาท
กลุ่มลูกค้า Virtual Bank ในไทยคือใคร
Virtual Bank ในไทยสามารถให้บริการลูกค้าได้ทุกกลุ่ม โดยเน้นลูกค้ารายย่อย และ SME กลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน หรือ กลุ่มที่ยังไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเพียงพอและเหมาะสม ดังนี้
1. ด้านสินเชื่อ คือ กลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อจากธนาคารหรือเข้าถึงไม่เพียงพอ จึงต้องไปกู้นอกระบบ เช่น ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่มีรายได้ประจำ ไม่มีข้อมูลหรือประวัติทางการเงินที่เพียงพอ ซึ่ง Virtual Bank สามารถใช้ข้อมูลทางเลือก (alternative data) และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการประเมินความเสี่ยงและพิจารณาให้สินเชื่อแก่คนกลุ่มนี้ได้
2. ด้านการออมและการลงทุน เช่น กลุ่มคนที่มีรายได้น้อย หรือกลุ่มคนที่เพิ่งเริ่มมีรายได้ (first jobber) ที่อาจยังขาดทักษะการวางแผนทางการเงิน (financial literacy) หรือยังไม่มีทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนที่ดีสำหรับการออมเงินจำนวนน้อย ๆ
Virtual Bank ทำอะไรได้ บ้างตั้งแต่วันแรกที่เปิดดำเนินการ
ธปท. ระบุว่า จะมีการติดตามการดำเนินงานในช่วง phasing อย่างใกล้ชิด ดังนั้น ในการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใด ๆ นั้น Virtual Bank จะต้อง มีความพร้อมด้านกระบวนการภายใน (internal operation/control) ตามแผนธุรกิจที่ได้นำเสนอตอนยื่นขอจัดตั้ง เพื่อไม่ให้การประกอบธุรกิจดังกล่าวก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อลูกค้าและระบบการเงิน
จากตัวอย่างในต่างประเทศพบว่า Virtual Bank จะทยอยออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินตามความพร้อม โดยเริ่มจากการรับฝากเงิน การโอน/ชำระเงิน และการให้สินเชื่อ ก่อนให้บริการประเภทอื่น