ปตท. จัดทัพชิงเค้กไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ส่งบริษัทลูก 'เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์' ผนึก 4 พันธมิตร ตั้งบริษัทร่วมทุน ... กูรูอสังหาฯ ชี้! มิกซ์ยูสมักกะสันโครงการใหญ่ พัฒนานาน 10 ปี เสี่ยงถ้ารถไฟความเร็วสูงช้าหรือสะดุด ราคาที่ฉะเชิงเทราพุ่งแล้ว 60%
การประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) วงเงินกว่า 2.2 แสนล้านบาท ดุเดือดขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเอกชนรายใหญ่ของไทยอย่างน้อย 5 ราย ประกอบด้วย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) , บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) , บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด (มหาชน) จะผนึกกำลังจับมือกันร่วมประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูง แข่งกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ที่จะจับมือกับกลุ่มทุนจีนและญี่ปุ่น ประกอบด้วย ไชน่า เซาธ์ โลโคโมทีฟ แอนด์ โรลลิ่ง สต๊อค (China South Locomotive and Rolling Stock) หรือที่รู้จักกันในอีกนามว่า
'ไชน่า เซาเธิร์น เรลเวย์' จากประเทศจีน และบริษัท อิโตชู คอร์ปอเรชั่น จากญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือซีพี พยายามดึงกลุ่มบีทีเอสออกจากการเป็นพันธมิตรของ ปตท. โดยเจรจากับ นายคีรี กาญจนพาสน์ แต่ไม่สำเร็จ เพราะซีพีต้องการถือหุ้นข้างมากในสัดส่วน 60% แต่เจ้าสัวคีรีแจ้งกลับว่า บีทีเอสต้องถือหุ้น 80% และซีพีถือ 20% อีกทั้งยังติดเงื่อนไขเกี่ยวกับการบริหารเส้นทางเดินรถไฟฟ้า ทางบีทีเอสจึงยืนยันที่จะจับมือกับ ปตท. และพันธมิตรแข่งประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงซีพี
ดันบริษัทลูกร่วมทุนพันธมิตร
แหล่งข่าวจาก บริษัท ปตท. เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงครั้งนี้ ทาง ปตท. จะให้บริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด หรือ เอนโก้ บริษัทในเครือ ปตท. เข้าไปตั้งบริษัทร่วมทุนกับกลุ่มพันธมิตรทั้ง 4 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาสัดส่วนการถือหุ้น โดยทางกลุ่มบีทีเอสจะเป็นผู้เจรจากับนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในระบบรถไฟความเร็วสูง ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้มีการเจรจากับอัลสตอมเอสเอ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถไฟรายใหญ่ของฝรั่งเศส แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ เนื่องจากอัลสตอมเสนอราคาสูงเกินไป
ขณะเดียวกัน ทาง ปตท. อยู่ระหว่างทบทวนผลการศึกษาความคุ้มค่าการลงทุน โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ จำนวน 150 ไร่ บริเวณสถานีมักกะสัน ซึ่งตามทีโออาร์กำหนดให้มีการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวไม่น้อยกว่า 850,000 ตารางเมตร และต้องลงทุนอาคารและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งส่วนควบต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 42,000 ล้านบาทนั้น มีความคุ้มค่าการลงทุนตามผลการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรหรือไม่
คาดมักกะสันใช้เวลาพัฒนา 10 ปี
นายสุรเชษฐ กองชีพ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยตลาดไรส์แลนด์ (ประเทศไทย) วิพากษ์ถึงความคุ้มค่าของแผนการลงทุนพัฒนาเชิงพาณิชย์บริเวณที่ดิน ย่านมักกะสัน-แอร์พอร์ตลิงค์ ว่า ในฐานะเอกชน ยังไม่สามารถประเมินความคุ้มค่าของการลงทุนที่มหาศาลเช่นนั้นได้ เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ อาจต้องใช้เวลาพัฒนายาวนานมากกว่า 10 ปี ทั้งนี้ แม้แต่โครงการวันแบงค็อก ซึ่งเป็นมิกซ์ยูสที่มีมูลค่าโครงการกว่า 1 แสนล้านบาท ยังใช้เวลาการพัฒนา 9 ปี ฉะนั้น หากโครงการรถไฟไฮสปีดเกิดความล่าช้าหรือสะดุด เท่ากับเม็ดเงินที่เอกชนลงไปจะจมหายได้ นอกจากนี้ การเดินทางเข้าสู่ศูนย์โลจิสติกส์ที่มักกะสันยังไม่เพียงพอ การเดินทางต้องต่อหลายช่วง ขึ้นรถไฟฟ้า BTS เดินเชื่อมสถานีพญาไทไปยังสถานีแอร์พอร์ตลิงค์ ซึ่งก่อให้เกิดความไม่สะดวกในการเดินทางได้ อีกทั้งควรสร้างทางขึ้น-ลง ทางด่วนในพื้นที่เพิ่มเติม
"โดยส่วนตัว มองว่าความเป็นไปได้ที่เกิดการพัฒนาที่ดี คือ รัฐต้องเปิดโอกาสให้เอกชนต่างชาติเข้ามาถือกรรมสิทธิ์ได้เต็ม 100% อาจจะส่งผลให้เอกชนต่างชาติเข้ามาเล่นด้วย"
[caption id="attachment_287736" align="aligncenter" width="503"]
ผศ.ดร.รัฐภูมิ ปริชาตปรีชา
ผู้อำนวยการสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมถนนและระบบราง มหาวิทยาลัยนเรศวร และในฐานะประธานคณะกรรมการวิศวกรรมระบบราง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)[/caption]
ผศ.ดร.รัฐภูมิ ปริชาตปรีชา ผู้อำนวยการสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมถนนและระบบราง มหาวิทยาลัยนเรศวร และในฐานะประธานคณะกรรมการวิศวกรรมระบบราง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) วิเคราะห์ว่า "จุดที่ผู้ร่วมลงทุนหลายฝ่ายให้ความสนใจ คือ การบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานีรถไฟ เนื่องจากเฉพาะการเดินรถ คงจะไม่มีผู้ร่วมลงทุนรายไหนอยากจะดำเนินการ เพราะใช้ระยะเวลานานกว่าจะคืนทุน แต่การใช้ประโยชน์เชิงพื้นที่จะให้ความสำคัญมากกว่า แค่แปลงมักกะสันและศรีราชา ไม่กี่ปีก็สามารถคืนทุนได้แล้ว นี่ยังไม่รวมสถานีและพื้นที่อื่น ๆ ด้วย ซึ่งทั้งกลุ่มซีพีและ ปตท. ล้วนมีพื้นที่ในโซนภาคตะวันออกที่สามารถเอาไปพัฒนาเชิงพาณิชย์รองรับไว้แล้วทั้งสิ้น"
นักวิชาการด้านระบบรางรายเดียวกัน ยังกล่าวอีกว่า การร่วมลงทุนในโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ หากสายป่านเงินลงทุนไม่มั่นคงพอ ก็จะต่อสู้กันไม่ได้แน่ สำหรับ 2 กลุ่มใหญ่ ที่เป็นข่าว ปตท. สายป่านการเงินเพียงพอแน่ แต่ซีพีเลือกใช้ทุนต่างประเทศเข้ามาร่วม เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องดอกเบี้ยและความผันผวนของค่าเงิน ซึ่งพันธมิตรญี่ปุ่นและจีนต่างก็มีความเข้มแข็งทั้งคู่สุดท้ายคงจะดูกันเรื่องการบริหารจัดการและบำรุงรักษา เพราะมีดอกเบี้ยเป็นตัวกำหนดทิศทางว่ากลุ่มใดจะเฉือนชนะไปในเกมการแข่งขันครั้งนี้
เนื่องจากรถไฟไฮสปีด การดูแลบำรุงรักษาทางวิ่ง ราง รวมทั้งอะไหล่ต่าง ๆ มูลค่าสูงมาก ซึ่งทั้ง 2 กลุ่ม ยังใกล้เคียงกัน แต่ ปตท. ก็ฉลาดพอที่จะหาพาร์ตเนอร์มาร่วมสนับสนุน ยังเป็นการกระจายความเสี่ยงและระดมความเด่นมารวมไว้ด้วยกันได้ ดังนั้น จึงจับตามองว่า แล้วจีนกับญี่ปุ่นจะเอาเทคโนโลยีไหนมาเสนอแข่งกับกลุ่มบีทีเอส
ที่ฉะเชิงเทราถีบตัว 60%
สถานีฉะเชิงเทราเป็นอีกพื้นที่ที่มีความน่าสนใจ เพราะตรงจุดนี้จะมีการพัฒนาเมืองใหม่ตามนโยบายของรัฐบาลให้เป็น
'เมืองสมาร์ทซิตี' ที่มีองค์ประกอบ 6 ลักษณะ ได้แก่ (1) ชุมชนอัจฉริยะ (Smart Community) (2) สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) (3) การคมนาคมขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) (4) พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) (5) เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) (6) การบริหารจัดการอัจฉริยะ (Smart Governance)
นายจอมพงษ์ ชูทับทิม เลขาธิการหอการค้า จ.ฉะเชิงเทรา เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จ.ฉะเชิงเทรา ได้รับมอบหมายให้เป็น
'เมืองสมาร์ทซิตี' ซึ่งหอการค้าฉะเชิงเทราได้ประชุมกับหน่วยงานราชการในพื้นที่ เพื่อกำหนดรูปแบบพัฒนาเมือง แต่พอมีข่าวออกไปว่า จะมีโครงการต่าง ๆ ราคาที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ ก็ถีบตัวสูงขึ้น 50-60% เพราะ จ.ฉะเชิงเทรา ไม่เคยรับโครงการขนาดใหญ่แบบนี้มาก่อน นักลงทุน ภาคเอกชนก็มีความตื่นเต้น กลุ่มคนที่มีที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดก็มีความคึกคัก แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการปั่นราคาที่ดิน
"คาดการณ์ว่า สมาร์ทซิตีของฉะเชิงเทราอาจจะมีขนาดไม่ใหญ่มาก อาจจะเป็นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แล้วมีคนไปอยู่ในนั้น ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นพื้นที่สถานีรถไฟเดิมของจังหวัด"
……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,372 วันที่ 7-9 มิ.ย. 2561 หน้า 01-02
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
●
ปตท.ผนึก BTS ประมูลไฮสปีดเทรน
●
'คีรี' ท้ารบ 'ซีพี' ชิงไฮสปีด! เปิดอาณาจักรแสนล้าน - 'บีทีเอส' ประกาศยึดทุกโปรเจ็กต์