โลกในทุกวันนี้ เรียกได้ว่าเป็น “New Normal” หรือโลกที่มีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลาจนสิ่งเหล่านั้นกลายเป็นบรรทัดฐานหรือธรรมชาติของสังคมไปโดยปริยาย เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากการคืบคลานของ “เทคโนโลยี” ที่เข้ามามีบทบาทและสร้างจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ จะเห็นได้ว่าหลายองค์กรพยายามเร่งพัฒนาให้สามารถก้าวข้าม Disruption ที่เกิดขึ้นและพร้อมจะสร้างความรุนแรงได้ทุกเมื่อ ในส่วนพนักงานเอง ในฐานะทรัพยากรมนุษย์อันมีค่าก็ต้องยิ่งเร่งขวนขวายและพัฒนาทักษะสู้วิกฤติพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เพื่อให้พร้อมตอบรับความต้องการของสังคมในอนาคต
ท่ามกลางการเติบโตของเทคโนโลยีอย่าง “เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์” หรือ AI ที่เป็นเหมือนคลื่นสึนามิลูกยักษ์ที่พร้อมซัดทุกตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่อง จนผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกคาดว่าหลายอาชีพในปัจจุบันกว่า 73 ล้านอาชีพกำลังจะหายไปภายในปี ค.ศ. 2030 ตัวเลขที่สูงจนน่าตกใจนี้กระตุ้นให้พนักงานหลายคนในหลากหลายองค์กรเริ่มตระหนักถึงหายนะที่กำลังเตรียมเลื่อยขาเก้าอี้แบบฉับเดียวขาด และเร่งพัฒนาตนเองอย่างเต็มกำลัง
แนวโน้มเรื่องความกังวลว่าหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์จะ “แย่ง” งานมนุษย์ดูเหมือนจะเป็นประเด็นที่ใครๆ ต่างพากันพูดถึงในช่วงเวลานี้ แต่ในขณะเดียวกัน ยังมีการโต้ตอบจากนักวิชาการบางกลุ่มเรื่องหุ่นยนต์จะเข้ามาแย่งงานมนุษย์ โดยได้ยกสถิติของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ในยุคที่นำเครื่องจักรมาทดแทนแรงงานคนในปี 1900 ว่า 40% ของแรงงานในประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ในภาคเกษตรกรรม แม้ทุกวันนี้เหลือคนในภาคเกษตรกรรมเพียง 2% แต่ประเด็นสำคัญคือแรงงานหรือบุคลากรในประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ได้ตกงาน แต่ได้ทำงานที่มีคุณค่าสูงขึ้นด้านควบคุมเครื่องจักร รวมถึงมีงานใหม่ๆ เกิดขึ้นตามความก้าวหน้าของโลกอุตสาหกรรมครั้งนั้น ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาล่าสุดว่า “การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีได้สร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ ที่มากกว่าตำแหน่งงานที่ถูกทำลายหายไป เมื่อเทียบจากจำนวนตำแหน่งงานในช่วง 144 ปีที่ผ่านมา” ดังนั้นในโลกดิจิตัลและเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้นจึงไม่ได้จะมีแต่ด้านลบเท่านั้น
คำถามสำคัญคือ แล้วเราจะพัฒนาตนเองให้พร้อมเป็นพลเมืองแห่งโลกอนาคตได้อย่างไร? และทักษะอะไรที่เราต้องรีบเรียนรู้เพื่อต่อกรกับวิกฤติครั้งนี้?
ทักษะใหม่แห่งอนาคต
1. ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI)
“เรารู้ว่า AI กำลังจะครองโลก เราก็ชิงควบคุมและกอบโกยประโยชน์จากมันให้ได้ซิ!” เหมือนจะเป็นคำตอบแบบกำปั้นทุบดินเสียหน่อย แต่เมื่อวิเคราะห์ถึงการเติบโตและการแทรกแซงในทุกส่วนธุรกิจของ AIในทุกวันนี้แล้ว ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่เริ่มพัฒนาทักษะนี้เลย
สำหรับ AI หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์นี้ คือ เทคโนโลยีการสร้างความฉลาดเทียมให้กับสิ่งที่ไม่มีชีวิต (เครื่องจักร หรือคอมพิวเตอร์) โดยเป็นสาขาหนึ่งทางวิทยาการคอมพิวเตอร์และวิศวกรรม ผนวกรวมกับศาสตร์ด้านอื่นๆ อย่างจิตวิทยา ปรัชญา ชีววิทยา ฯลฯ ซึ่งแตกแขนงเป็นหลากหลายสาขาที่เตรียมแย่งงานมนุษย์ได้ทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) ที่เป็นการสร้างมันสมองของระบบ AI ด้วยการใส่อัลกอริทึม (Algorithm) หรือโปรแกรมสอนให้เครื่องจักรเรียนรู้พร้อมใส่ข้อมูล (Data) ต่างๆ เข้าไป เพื่อให้เครื่องจักรสามารถเรียนรู้ ประมวลผล วิเคราะห์ สร้างองค์ความรู้ และทำนายอนาคตได้ด้วยตัวเอง ซึ่งถูกนำมาใช้งานอย่างหลากหลาย อาทิ ระบบประมวลผลตรวจจับใบหน้าบนโทรศัพท์มือถือ ระบบการประมวลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing - NLP) และการจดจำคำพูด (Speech Recognition) ที่ถูกใช้ในเทคโนโลยีของ Siri Apple ระบบการแนะนำวิดีโอหรือหนังใน Netflix และ Youtube ฯลฯ โดยปัจจุบันสาขานี้ถูกพัฒนาจนมีขั้นตอนประเมินชุดข้อมูล (Hidden layer) ที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ จนใกล้เคียงกับเครือข่ายประสาทของสมองมนุษย์เลยทีเดียว
นอกจากเทคโนโลยีอย่าง AI แล้ว ยังมีเทคโนโลยีการพัฒนาซอฟต์แวร์ต่างๆ (Software Development) อย่างระบบการทำงานอัตโนมัติด้วยหุ่นยนต์ (Robotic Process Automatic หรือ RPA) ซึ่งเป็นการพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมาเพื่อควบคุมกิจกรรมทางธุรกิจหลากหลายรูปด้วยคอมพิวเตอร์แบบอย่างอัตโนมัติ ผ่านการวิเคราะห์จากชุดข้อมูลต่างๆ ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะเข้ามาทำหน้าที่แทนมนุษย์ในงานที่ต้องใช้เวลามากและทำซ้ำไปซ้ำมา อย่างการตอบอีเมล์ลูกค้า การจัดการกับเอกสาร ตัวเลข และข้อมูลปริมาณมาก ราวกับเป็นพนักงานบริษัทที่ทำงานได้ 24 ชม. โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเลย พูดง่ายๆ ก็คือเมื่อ AIสามารถทำงานได้เร็วกว่าสมองคน จึงจำเป็นที่คนทำงานทุกคนต้องเร่งปรับตัวและเรียนรู้อย่างรวดเร็วกับเทคโนโลยี
2. การวิเคราะห์เซ็ตข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) และการแสดงผลข้อมูลให้เห็นภาพ (Data Visualization)
หลายคนคงคุ้นหูกับเรื่อง “Big Data Analytics” หรือกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (ที่ใหญ่มากๆ จนมนุษย์ไม่สามารถวิเคราะห์ทั้งหมดได้) ซึ่งทำหน้าที่ค้นหารูปแบบความสัมพันธ์และหาสิ่งที่เชื่อมโยงข้อมูลเหล่านั้นเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาใช้ประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการหาเทรนด์ทางการตลาด การหาความต้องการของลูกค้า ซึ่งถูกนำมาประกอบการพัฒนาแผนงาน การดำเนินการต่างๆ ตลอดจนการตัดสินใจทางธุรกิจ ให้มีความถูกต้อง ตรงจุด และมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน จนเรียกได้ว่า การตัดสินใจยากๆ ในวันวาน ก็ง่ายขึ้น (และเร็วมากขึ้นมากๆ) เหมือนปอกกล้วยเข้าปาก
แม้ว่าเทรนด์นี้จะเข้ามาในสังคมโลกรวมถึงประเทศไทยมาได้สักระยะใหญ่ๆ และหลายองค์กรก็เริ่มนำเทคโนโลยีนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงานทางธุรกิจแล้ว แต่มันจะมีประโยชน์อะไร ถ้าคนส่วนใหญ่ในองค์กรไม่สามารถอ่านมันออก หรือแม้ว่าจะมีคนอ่านข้อมูลออกก็ไม่รู้ว่าจะอธิบายให้คนอื่นๆ เข้าใจได้อย่างไร ในปัญหาส่วนนี้เองที่ทักษะด้าน “Data Visualization” หรือทักษะในการนำข้อมูลต่างๆ มาทำให้เห็นภาพ เข้ามามีบทบาทอย่างขาดไม่ได้เลย โดยทักษะนี้จะช่วยแปลงข้อมูลเชิงเทคนิคมาอยู่ในรูปแบบของภาพ (Visual) เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ดูน่าสนใจมากขึ้น และเห็นภาพรวมของข้อมูลได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากจะทำให้ข้อมูลยากๆ สามารถเข้าถึงคนในหมู่มากได้แล้ว ก็ยังเพิ่มโอกาสในการมองเห็นข้อมูลที่น่าสนใจชุดใหม่ๆ ที่อาจมองข้ามไป นับเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจอีกต่อนึงอีกด้วย จนอาจกล่าวได้ว่า Data Visualization ถือเป็นอีกหนึ่งทักษะของพนักงานในฝันที่ทุกองค์กรใฝ่หาในอนาคตอย่างไม่ต้องสงสัย
3. การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) และการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน (Complex Problem-Solving)
แม้ว่าเทคโนโลยีจะถูกพัฒนาให้มาทำงานหลายๆ อย่างแทนมนุษย์ แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่เครื่องจักรไม่สามารถทำแทนเราได้ และแม้ทำได้ เราก็ไม่ไว้ใจให้ทำหน้าที่แทนมนุษย์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ สิ่งนั้นก็คือหน้าที่ในการตัดสินใจ เพราะถึงแม้ว่า AI จะสามารถคำนวณเรื่องต่างๆ ได้แม่นยำมากขึ้น เก็บข้อมูลได้มากมาย แต่ในหลายๆ เรื่องก็ยังต้องใช้ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ในการตัดสินบางเรื่องอยู่ เช่น ทนายอาจใช้ AI เก็บข้อมูลหลักฐานต่างๆ เพื่อประกอบการพิจารณาคดี แต่สุดท้ายอัยการหรือผู้ที่อำนาจในการตัดสินก็ยังคงเป็นมนุษย์นี่เอง จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า “ทักษะที่เกี่ยวกับการคิดเชิงวิพากษ์” (Critical Thinking) และ “ทักษะในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน” (Complex Problem Solving) ซึ่งครอบคลุมไปถึงการเลือกคำตอบในการแก้ปัญหาที่เหมาะสม จะเป็นทักษะประเภท ซอฟท์สกิล (Soft Skill) ที่หลายองค์กรเฟ้นหาในผู้สมัครงานยุคใหม่ และเร่งพัฒนาพนักงานของตนเองให้มีทักษะนี้มากขึ้น โดยทักษะดังกล่าวช่วยให้มนุษย์สามารถวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ และตัดสินใจกระทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่งตามหลักตรรกะและเหตุผลได้อย่างสมเหตุสมผล แม้ว่าปัญหาดังกล่าวจะมีความซับซ้อนที่ยากจะเข้าใจโดยเฉพาะในยุคสมัยที่เทคโนโลยีและมนุษย์ทำงานคาบเกี่ยวกันในหลายระดับ จนไม่สามารถใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบเดิมๆ ได้ในทุกปัญหา
4. ทักษะเรื่องคน (People Skills)
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่างานเกือบทุกประเภทบนโลกล้วนต้องติดต่อสื่อสารกับคนอื่นๆ ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง ดังนั้น “ทักษะเรื่องคน” (People Skills) จึงเป็นทักษะที่ขาดไม่ได้ที่จะช่วยให้เราสามารถทำงานร่วมกับคนได้อย่างราบรื่น ซึ่งเมื่อจำแนกลงไปแล้วทักษะนี้ประกอบด้วยหลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นทักษะเกี่ยวกับประสิทธิภาพส่วนตัว (Personal Effectiveness) ที่เน้นการพัฒนาตนเอง | ทักษะที่เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น (Interpersonal Skills) อย่างการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี (Interpersonal Skills) และทักษะการสื่อสาร (Communication Skills) ซึ่งรวมตัวกันเกิดเป็นความสามารถและทักษะย่อยต่างๆ มากมาย อาทิ ทักษะด้านการจัดการคน (People Management Skills) ที่ใช้ในการจัดการ (Deal with) พูดคุย และควบคุมทั้งประสิทธิภาพและความรู้สึกของผู้คนรอบข้าง ทักษะเกี่ยวกับความยืดหยุ่นในการเข้าใจผู้อื่น(Cognitive Flexibility) ที่ช่วยให้เราเข้าใจผู้อื่นได้มากขึ้น รู้จักถึงวิธีการเข้าหา (Approach) และพูดคุยกับผู้คนในแต่ละลักษณะ ตลอดจนรู้วิธีปรับเปลี่ยนวิธีการสื่อสารให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทักษะด้านการโน้มน้าวใจ (Negotiation Skills) ซึ่งนับว่าเป็นหัวใจสำคัญในการปิดข้อตกลงทางธุรกิจในทุกๆ ครั้ง ฯลฯ โดยทักษะซอฟท์สกิลเหล่านี้ล้วนเป็นตัวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับมนุษย์อย่างมาก เพราะตราบใดที่เรายังต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น แม้เพียงแค่ 1 คน เราก็ยังจำเป็นต้องใช้ทักษะเหล่านี้ไม่มากก็น้อย
5. ทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ (Creativity)
สำหรับทักษะสุดท้าย เป็นทักษะชั้นเลิศที่อยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาเนิ่นนาน ซึ่งการันตีได้ถึงความยอดเยี่ยมที่แม้หุ่นยนต์ตัวที่ดีที่สุดก็ไม่สามารถเทียบเท่ามนุษย์ได้ ทักษะนั้นคือ “ความคิดสร้างสรรค์” (Creativity) เพราะสมองของมนุษย์มีความซับซ้อนและมีความสามารถในการคิดได้หลากหลายรูปแบบจนนำไปสู่การคิดค้นและสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ซึ่งเทคโนโลยีและ AI บนโลกใบนี้ต่างเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์นั่นเอง สิ่งที่ดีไปกว่านั้นคือแม้ว่าคนเราอาจไม่ได้เกิดมาแล้วมีทักษะความคิดสร้างสรรค์ หรือการคิดหาทางออก/หาคำตอบได้อย่างสร้างสรรค์ หรือเราทุกคนไม่ได้เกิดมาแล้วคิดแบบ Steve Jobs ได้ แต่เราก็ยังมีรูปแบบขั้นตอนการคิดที่ฝึกให้เราทำเช่นนั้นได้ เช่นการฝึกคิดแบบ Design Thinking หรือเทคนิคการคิดหาคำตอบแบบนักออกแบบเช่นนี้เป็นต้น โดยทักษะความคิดสร้างสรรค์กลับมาทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในยุคที่เครื่องจักรเข้ามาแย่งงานกินเวลาแสนน่าเบื่อไปเสียหมด จนคนมีเวลาเหลือเฟือที่จะใช้ไปกับการสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ทุกสถานการณ์ในอนาคต (ที่เพิ่มความท้าทายให้กับนักคิดด้วยความเร็วของการเปลี่ยนแปลงที่เร็วมากขึ้นเรื่อยๆ) เฉกเช่นปัจจุบัน โดยเฉพาะการริเริ่มความคิดนอกกรอบ ที่เรียกได้ว่าออกนอกกรอบเดิมๆ แบบที่ไม่เคยคิดเคยฝันมาก่อน อันเป็นผลมาจากการค้นพบความต้องการของลูกค้าที่ไม่เคยเห็นมาก่อน (Unmet Needs) ต่างๆ จากลูกค้ายุคใหม่ที่เปลี่ยนไปเร็วไวในทุกขณะ ฉะนั้นหากเป็นคุณเป็นหนึ่งคนที่กำลังกังวลว่าจะโดนหุ่นยนต์แย่งงาน ขอให้คุณลับความคิดสร้างสรรค์ของคุณให้คมกริบเข้าไว้ เดี๋ยวนี้เลย
นอกจากทักษะต่างๆ เหล่านี้แล้ว เหนือสิ่งอื่นใด ประชากรยุคใหม่ต้องมี “ทัศนคติที่อยากจะเรียนรู้” และ “วิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสม” ซึ่งล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้มนุษย์สามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างไม่รู้จบ โดย SEAC (Southeast Asia Center) ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน เชื่อมั่นว่า มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในการพัฒนาชีวิต และสามารถเกิดการเรียนรู้ (Learning) ได้ตลอดทุกช่วงชีวิต ผ่านวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสม โดยจากการดำเนินธุรกิจในวงการการเรียนรู้มาอย่างยาวนาน ทำให้ SEAC สามารถพัฒนาและสร้างสรรค์รูปแบบการเรียนรู้ที่ทรงประสิทธิภาพมากที่สุดของโลกขึ้นมาได้สำเร็จ ภายใต้ชื่อ “4Line Learning” ซึ่งถูกนำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบผ่านโมเดลแรกของ SEAC ที่เปิดตัวในชื่อ “YourNextU” ซึ่งเปรียบเสมือนระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ที่เรา ตั้งใจสร้างสรรค์และออกแบบมาให้ตอบสนองความเปลี่ยนแปลงของโลก รูปแบบการใช้ชีวิต และสไตล์การเรียนรู้ของคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งนอกจากจะสามารถรองรับรูปแบบการเรียนรู้ของแต่ละคนแล้ว ยังช่วยกระตุ้นให้คนเกิดความอยากที่จะเรียนรู้ และพร้อมนำเอาสิ่งใหม่ๆ มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันและการทำงานได้อย่างทันท่วงที ท่ามกลางโลก Disruption ที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงนี้