อว.ประกาศโรดแมพขยะเป็นศูนย์ ภายในปี 2570 พร้อมประกาศเลิกใช้ 4 ขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ถุง-แก้ว-หลอดพลาสติกและกล่องโฟมในปี 2565 นำร่องลดใช้พลาสติกจากหน่วยงานในสังกัดอว.ทั้งหมด พร้อมเดินหน้าโครงการประเทศไทยไร้ขยะ ชูงานวิจัยและนวัตกรรมแก้ไขปัญหา อาทิ เปลี่ยนขยะมูลฝอยมาผลิตเป็นไฟฟ้า การเปลี่ยน CO2 ให้กลายเป็นเงิน สอดรับนโยบาย BCG โมเดล ชูแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มและเกิดประโยชน์สูงสุด
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้กำหนดกรอบนโยบายการบริหารจัดการขยะพลาสติกในภาพรวมของประเทศ ด้วย Roadmap การจัดการขยะพลาสติก ปี พ.ศ. 2561-2573 ซึ่งมีขยะพลาสติก 4 ประเภทที่ประเทศไทยต้องเลิกใช้ในภายปี 2565 คือ พลาสติกหูหิ้ว กล่องโฟมบรรจุอาหาร หลอดพลาสติก และแก้วพลาสติก พร้อมตั้งเป้าปี 2570 มีเป้าหมายนำขยะผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติก กลับเข้ามาใช้ประโยชน์ทั้ง 100% เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นหนึ่งในของแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ BCG โมเดล ที่มุ่งเน้นในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มีการนำทรัพยากรที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ และปลดปล่อยของเสียสู่สภาพแวดล้อมให้น้อยที่สุด โดยการบูรณาการการพัฒนาเศรษฐกิจในสามมิติไปพร้อมกัน ได้แก่ B- Bio Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ C-Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน และ G-Green Economy หรือ เศรษฐกิจสีเขียว
การผลักดันแนวคิด Zero waste เป็นองค์ประกอบสำคัญภายใต้ BCG Model ให้บรรลุความมุ่งหมาย ซึ่งสามารถทำได้ใน 2 ส่วน คือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และการพัฒนานวัตกรรม เพื่อให้มีการนำทรัพยากรที่ใช้แล้ว นำกลับมาใช้ใหม่ และลดการปล่อยของเสียสู่สภาพแวดล้อมให้น้อยที่สุด ตามหลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียน โดย BCG Model เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มใหม่ ๆ จากฐานทรัพยากรธรรมชาติ ส่งเสริมให้เปลี่ยนของเหลือทิ้งให้กลายเป็นแหล่งรายได้แห่งอนาคต (Waste to wealth) เช่น การเปลี่ยนสินค้าเกษตรและวัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมการเกษตรให้เป็นสารมูลค่าสูงในอุตสาหกรรมการผลิตพลังงานและวัสดุชีวภาพ หรือการแปลงขยะมูลฝอยให้เป็นพลังงานที่ยั่งยืนในชุมชน เป็นต้น
สำหรับในปีงบประมาณ 2563 โครงการ Zero waste Thailand (ประเทศไทยไร้ขยะ) ถือเป็นโครงการ Flagship ของนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ที่จะได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งในปีนี้ กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้รับงบประมาณเข้ามาเพื่อดำเนินโครงการ Flagship ทุกโครงการรวมทั้งสิ้น 8,384 ล้านบาท ในส่วนของ Zero waste ที่เป็นนโยบายหลัก (Grand challenge) นั้นจะอยู่ภายใต้การดูแลของ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่จะเปิดโอกาสให้หน่วยงาน สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยต่างๆ สามารถส่งข้อเสนอโครงการเข้ามาเพื่อขอรับทุนในการไปดำเนินการแก้ไขปัญหา ตอบโจทย์ Zero Waste ได้ ซึ่งงบประมาณจะให้เป็น multiyear/ block grant เพื่อให้เกิดการต่อเนื่องของโครงการ และมีประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณสูงสุด
ขณะนี้ได้มีผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ช่วยหมุนเวียนขยะกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุดหลายงาน อาทิ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ให้ทุนสนับสนุน 3 โครงการคือ 1. พัฒนาแอปพลิเคชันรับบริจาคอาหาร สำหรับอาหารในห้างสรรพสินค้าที่ขายไม่หมด เพื่อลดขยะอาหารและนำไปมอบให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ 2. เครื่องแปรรูปขยะเศษอาหารให้กลายเป็นดินคุณภาพดี โดยการพัฒนาให้ใบมีดสามารถย่อยบดอาหารขนาดใหญ่และแข็งได้ ก่อนนำไปผ่านการปรับปรุงคุณภาพดินและระบบทำแห้ง ส่งผลให้สามารถแปรสภาพขยะเป็นดินได้ภายใน 30 นาที และดินที่ได้มีค่าเฉลี่ยของ N P K สูงกว่าค่าเฉลี่ยดินการค้าทั่วไป
3. แอปพลิเคชัน Recycle Day สำหรับจัดการของเหลือใช้ครบวงจร เป็นศูนย์กลางในการคัดแยกขยะ พร้อมเชื่อมโยงกลุ่มผู้รับซื้อของเก่ากับกลุ่มที่ต้องการขายของเหลือใช้ ซึ่งภายในแอปจะมีการนัดหมายระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ตรวจสอบราคาซื้อขาย สะสมคะแนน ตลอดจนข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ อาทิ ขยะอันตราย วัสดุรีไซเคิล และขยะทั่วไป
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยเพื่อคิดค้นระบบผลิตก๊าซเชื้อเพลิงจากขยะมูลฝอยเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวจะใช้เศษวัสดุชีวมวลเหลือใช้จากเกษตรกร หรือ กระบวนการผลิตในอุตสาหกรรม นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากแทนที่จะต้องเสียงบประมาณในการกำจัดขยะ ยังก่อให้เกิดพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ช่วยประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น และยังก่อให้เกิดรายได้จากการขายพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ โดยในอนาคตมีโครงการขยายกำลังการผลิตเป็น 200w และ 1MW อีกด้วย
งานวิจัยแปลง CO2 มัจจุราชร้ายให้กลายเป็นเงิน โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันนวัตกรรม บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน ด้วยการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนเป็นสารเคมีมูลค่าเพิ่ม โดยการพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาโลหะออกไซด์ผสมสำหรับเปลี่ยนก๊าซ CO2 ให้เป็น “โอเลฟินส์จำพวกเอทิลีนและโพรพิลีน” ที่เป็นผลิตภัณฑ์ขั้นต้นในการผลิตเม็ดพลาสติกที่ใช้ผลิตสินค้าอย่าง ชิ้นส่วนรถยนต์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ฯลฯ
โครงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและขยะพลาสติกในชุมชนเพื่อการบูรณาการอย่างยั่งยืน โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับ อบต.ตาลเดี่ยว จ.สระบุรี เป็นพื้นที่นำร่อง นำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาขับเคลื่อนต่อการจัดการขยะชุมชนตั้งแต่ต้นทาง คัดแยกขยะ การจัดทำธนาคารขยะ กลางทาง คือ พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นแบบจากขยะชุมชนรวมถึงของเหลือทิ้งภาคการเกษตร สร้างมูลค่าเพิ่มในการนำขยะกลับมารีไซเคิล เพื่อเป็นมิตรแก่สิ่งแวดล้อม โดยนำกลับมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เกล็ด (Flake) หรือ เม็ดพลาสติกรีไซเคิล อีกทั้งการนำขยะเก่าผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะ เป็นต้น
นอกจากนี้ กระทรวงยังได้ขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการเป็นต้นแบบที่ดีในการรณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจ และสร้างความตระหนักให้แก่บุคลากร สถาบันการศึกษา เอกชน และประชาชน ดังนั้นเพื่อให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จึงมีการประกาศนโยบายสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักการ BCG ด้วยการงดการใช้พลาสติก และส่งเสริมการวิจัยเพื่อนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ตาม Roadmap ซึ่งมีแนวทางดังต่อไปนี้
1. ให้หน่วยงาน อว. ร่วมรณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักให้บุคลากรในสังกัด รวมถึงผู้รับบริการและประชาชนทั่วไป ผ่านช่องทางการสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ภาพอินโฟกราฟิก โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ และตั้งจุดให้บริการถุงผ้าแบบยืม-คืน เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการลดใช้ไปสู่การเลิกใช้ถุงพลาสติกและพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งอย่างยั่งยืน
2. ให้บุคลากรของหน่วยงาน อว. สถาบันการศึกษา รวมถึงนิสิต นักศึกษา ใช้ถุงผ้า กล่องข้าว และแก้วน้ำส่วนบุคคล แทนการใช้ถุงพลาสติก กล่องโฟม และแก้วน้ำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ในการรับบริการจากร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ และร้านขายอาหาร
3. ให้ผู้ประกอบการร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ และร้านขายอาหารภายในหน่วยงาน อว. เลือกใช้ถุงหูหิ้ว กล่องข้าว และแก้วน้ำแบบย่อยสลายได้ และงดให้ช้อน ส้อม และหลอดพลาสติก หากไม่ได้รับการร้องขอจากลูกค้าหรือไม่ได้สอบถามลูกค้าก่อน
4. ลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายยากในการจัดเบรคและอาหารในการประชุมต่างๆ เลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ เช่น ใบตอง กล่องชานอ้อย
5. สนับสนุนงานวิจัยที่นำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ รวมทั้งพลาสติกที่ย่อยสลายได้