การเสียชีวิตของ "แชดวิก โบสแมน" พระเอกหนุ่มจากเรื่อง Black Panther มีผลให้หลายคนเริ่มตะหนักถึงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่กันมากขึ้น ในส่วนของประเทศไทย นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันวิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมากโดยเฉพาะพฤติกรรมการบริโภค เช่น อาหารไขมันสูง อาหารฟาสต์ฟู้ดต่าง ๆ ได้รับความนิยมมากขึ้น การกินอาหารปิ้งย่างไหม้เกรียม อาหารจากน้ำมันทอดซ้ำ และเนื้อสัตว์แปรรูป ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรค
นอกจากนั้นแล้วยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การขาดการออกกำลังกาย การมีภาวะอ้วนน้ำหนักเกิน ตลอดจนการมีประวัติครอบครัวหรือตนเองเป็นติ่งเนื้อในลำไส้ เป็นต้น
นายแพทย์จินดา กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เริ่มจากการเกิดติ่งเนื้อในลำไส้ (polyp) และพัฒนาจนเป็นมะเร็งโดยใช้ระยะเวลาประมาณ 10-15 ปี มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงมักจะไม่มีอาการในระยะเริ่มแรกของโรค จะมีอาการก็ต่อเมื่อโรคลุกลามมากขึ้นจนถึงระยะสุดท้าย ส่งผลทำให้การรักษาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
สำหรับอาการของโรคที่พบบ่อย ได้แก่ การถ่ายอุจจาระผิดปกติ มีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง ถ่ายไม่สุด ถ่ายเป็นมูกหรือ มูกปนเลือด หรืออาจถ่ายเป็นเลือดสด ขนาดลำอุจจาระเล็กลง และมีอาการปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืด จุกเสียด เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเป็นมะเร็งที่สามารถตรวจคัดกรองเพื่อค้นหามะเร็งในระยะเริ่มแรกได้ ส่งผลให้การรักษาได้ผลดีและมีโอกาสหายจากโรคสูง ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรรับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงโดยการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระปีละครั้ง หากผิดปกติควรได้รับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ กรณีพบติ่งเนื้อหรือความผิดปกติในลำไส้ใหญ่ แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อบริเวณดังกล่าวเพื่อวินิจฉัยต่อไป
ด้านนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่าประเทศไทยพบผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเป็นอันดับ 3 ในเพศชาย และอันดับ 2 ในเพศหญิง ข้อมูลประมาณการณ์ ในปี 2561 จะมีผู้ป่วยใหม่ราว 13,000 ราย และเสียชีวิตประมาณ 5,000 คน
โดยปัญหาอุปสรรคของการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบันคือ โรงพยาบาลส่วนใหญ่มีจำนวนเตียงไม่เพียงพอ ผู้ป่วยที่ต้องได้รับยาเคมี จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลทุกครั้ง บางครั้งทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาไม่เป็นไปตามรอบการให้ยาและขาดความต่อเนื่อง
ดังนั้นกรมการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี พร้อมโรงพยาบาลต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงได้ร่วมผลักดัน นโยบายเรื่องการให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน (Home chemotherapy) เป็นชุดสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2563 ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาตรงเวลา มีประสิทธิภาพ ให้ผลลัพธ์ต่อสุขภาพร่างกาย และจิตใจที่ดีกว่า
"การให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน มีต้นทุนต่ำกว่าการบริการยาเคมีที่โรงพยาบาลอีกด้วย การรักษาด้วยวิธี Home chemotherapy จัดเป็นการพัฒนารูปแบบบริการการแพทย์วิธีใหม่ หรือเรียกว่า “New Normal of Medical Service” สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง "