ครม.ไฟเขียวงบ 24,400 ล้านบาทเพื่อ“วิทยาศาสตร์-วิจัย-นวัตกรรม”

19 ม.ค. 2564 | 07:31 น.

ครม.อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ปี 65 ร่วม 24,400 ล้านบาท มุ่งสร้างงานวิจัยและนวัตกรรม ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์–เพิ่มขีดความสามารถภาคผลิตและบริการ-แก้ปัญหาด้านการพัฒนาสังคม สร้างขีดความสามารถเทคโนโลยีรองรับวิถีนิวนอร์มัล

วันนี้(19 ม.ค.64) ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยในฐานะผู้ช่วยเลขานุการสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 24,400 ล้านบาท ตามที่ สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ นำเสนอ เพื่อใช้เป็นงบประมาณในการขับเคลื่อนแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมประจำปี พ.ศ. 2563 - 2565 ฉบับปรับปรุง สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 


โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นว่าประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายหลายด้าน จึงมีความจำเป็นต้องนำความรู้จากการวิจัยและนวัตกรรมมาช่วยแก้ไขปัญหา ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในประเทศ และแก้ไขปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาสำคัญและเร่งด่วนของประเทศดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน โดยอาศัยความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ประชุมจึงได้พิจารณาเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ ดังกล่าว
 


ดร.กิติพงค์ กล่าวถึงผลสำเร็จ ในปี 2563 ที่ผ่านมา โดยงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้นำไปใช้ตอบโจทย์ของการพัฒนากำลังคน  เศรษฐกิจ  สังคม  สาธารณสุข  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างตรงตามเป้าหมาย  โดยเฉพาะในภาวะที่ประเทศเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 อาทิ การสร้างสรรค์ผลงานการพัฒนาหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตและตรวจสอบคุณภาพหน้ากากอนามัย  การผลิตชุดตรวจเชื้อโควิด-19  โดยวิธี Real-Time (RT-PCR) จากน้ำลายซึ่งลดขั้นตอนการตรวจและทำให้ตรวจได้ในจำนวนที่มากขึ้น  

 

การวิจัยเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือต่อการระบาดของโรคโควิด-19 ในด้านวัสดุและเครื่องมือทางการแพทย์ เช่น อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment : PPE)  เครื่องช่วยหายใจ  โรงพยาบาลสนาม ห้องตรวจแยกแรงดันลบ ฯลฯ การพัฒนาศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติจนได้รับการรับรองมาตรฐานสากลด้านการดูแล การเลี้ยง และใช้สัตว์ทดลอง ทำให้ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการวิจัยและทดสอบยาและวัคซีนอย่างครบถ้วนและเป็นที่น่าเชื่อถือ   


งบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมยังเป็นปัจจัยขับเคลื่อนความสำเร็จในการพัฒนากำลังคนโดยอาศัยกลไกการพัฒนาความรู้ในทักษะเดิม (Re-skill) การยกระดับทักษะเดิม (Up-skill)  และการเพิ่มพูนทักษะใหม่ (New skill)  เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมายและข้อริเริ่มสำคัญ การพัฒนายารักษาโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งช่วยลดการนำเข้ายาราคาแพงและเพิ่มการเข้าถึงยาของประชาชน การพัฒนาระบบการแก้ไขปัญหาคนจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ การพัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบช่วยประเมิน ดูแล ฟื้นฟู บริการผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง  


การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy - BCG Economy) ในด้านต่างๆ  รวมทั้งอุตสาหกรรมการแพทย์และบริการสุขภาพ โดยผลักดันแผนงานวิจัยจิโนมิกส์ประเทศไทย เพื่อให้เกิดศูนย์บริการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของประเทศ  ธนาคารทรัพยากรชีวภาพ (Biobank) เพื่อให้เกิดแหล่งศูนย์กลางในการเก็บรักษาทรัพยากรชีวภาพได้ปลอดภัยและมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล  รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีอวกาศจัดการกับปัญหา PM 2.5    

 

สำหรับแผนงานและเป้าหมายของปี 2565 (ร่าง) แผนด้านวิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ. 2563-2565 ฉบับปรับปรุง  สำหรับปีงบประมาณ 2565 จะมุ่งเน้นการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้จริง  และเพิ่มขีดความสามารถของภาคการผลิตและบริการบนรากฐานของการพึ่งพาตนเองแบบยั่งยืน  สามารถใช้แก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาสังคมอย่างมีนัยสำคัญ  และสร้างขีดความสามารถทางเทคโนโลยีรองรับการดำรงชีวิตในวิถีใหม่ (New Normal) ทั้งนี้ การดำเนินงานจะให้ความสำคัญกับการบรรลุผลลัพธ์ที่มีคุณค่าตามเป้าหมาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน และเน้นแนวการพัฒนาที่มี “คน” เป็นศูนย์กลาง เพราะคนเป็นหัวใจสำคัญของทุกเรื่อง


โดยกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปี พ.ศ. 2565 ประกอบด้วย งบสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund) จำนวน 14,640 ล้านบาท เป็นการสนับสนุนทุนแบบให้มีการแข่งขัน (Competitive Funding) สำหรับการทำวิจัยที่เน้นตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ โดยมีเป้าหมาย 4 แพลตฟอร์ม 17 โปรแกรมที่ครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ ที่สำคัญ 
ตั้งแต่การพัฒนากำลังคน การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ การปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ไปจนถึงการแก้ไขปัญหาวิกฤติเร่งด่วนของประเทศ และงบสนับสนุนงานพื้นฐาน (Fundamental Fund) จำนวน 9,760 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนงานวิจัยพื้นฐาน (Basic Research Fund) และ Functional-based Research Fund เพื่อสร้างความเข้มแข็งของหน่วยงาน โดยการจัดสรรงบประมาณดังกล่าวเน้นความยืดหยุ่นและคล่องตัว