กระแสต้านรัฐประหารเมียนมาลาม จากกลางเมืองใหญ่ถึงหัวเมืองชายแดน "เมียวดี"เครียดเฉียดรุนแรง ส่วนที่"ท่าขี้เหล็ก"มวลชนกว่า 2 หมื่นคน เดินแสดงพลังทางการเมืองครั้งแรกเป็นภาพประวัติศาสตร์ไปทั่วเมือง
การชุมนุมของชาวเมียนมา ต่อต้านการเข้ายึดอำนาจของฝ่ายกองทัพเหนือรัฐบาลพลเรือน ที่กำลังจัดตั้งหลังการเลือกตั้งทั่วไป ขยายตัวยกระดับเข้มข้นขึ้นทุกขณะ ล่าสุดทางการออกคำสั่งห้ามจัดการชุมนุม และขู่ใช้มาตรการทางกฎหมายเข้มงวด สร้างความหวั่นวิตกไปทั่วโลก ว่าความรุนแรงในอดีตจะย้อนรอยกลับมาเยือนเมียนมาอีกหรือไม่
ไม่เพียงในเมืองใหญ่ ชาวเมียนมาในพื้นที่หัวเมืองชายแดนอย่างเมียวดี ที่ตั้งอยู่คนละฝั่งแม่น้ำเมยกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก หรือท่าขี้เหล็ก ที่อยู่ชิดติดกับอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ที่มีเพียงลำน้ำแม่สายกั้นแดน ก็รวมตัวชุมนุมแสดงความไม่พอใจรัฐบาลทหารเมียนมา ปรากฎเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยมีมาก่อน
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564 ที่จังหวัดเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ผู้ชุมชุมนุมชาวเมียนมาจากหลากหลายสาขาอาชีพ นักศึกษา นักเรียน และข้าราชการ จำนวนมาก ชุมนุมประท้วงด้วยการถือป้ายต่อต้านการรัฐประหาร และรูปนายอูวิน มิ้นต์ ประธานาธิบดี รูปนางอ่องซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี.) ไปรอบ ๆ เมืองเมียวดี เพื่อเรียกร้องให้คณะรัฐประหารที่นำโดยพลเอกอาวุโสมินอ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และคณะ ปล่อยตัวนางอ่องซาน ซูจี และนายอูวินมิ้นต์ ขณะที่เจ้าหน้าที่ทางการตั้งแนวสกัดและสั่งยุติการชุมนุม
ต่อมาเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา ยิงปืนขึ้นฟ้าและลงพื้น พร้อมจับกุมผู้ชุมนุมไป 14 คน เป็นเหตุให้มีผู้เข้าร่วมชุมนุมเพิ่ม และรวมพลล้อมสถานีตำรวจเมืองเมียวดี ยื่นข้อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมทั้งหมด โดยมีการตรึงกำลังต่อเนื่องทั้งคืน จนทางการเมียวดียินยอมปล่อยตัวทั้ง 14 คน ซึ่งได้ไปร่วมการชุมนุมต่อในวันที่ 8 ก.พ. 2564 ซึ่งผู้ชุมนุมทุกคนมีผูกโบสีแดง และธงรูปนก ไปตามถนนสายต่าง ๆ ทั่วเมือง
วันเดียวกันที่ฝั่งตรงข้ามอ.แม่สาย จ.เชียงราย ชาวเมียนมาในเมืองท่าขี้เหล็กกว่า 20,000 คน ฝ่าสายฝนเดินขบวนแสดงพลัง คัดค้านการยึดอำนาจของกองทัพ จนหลายคนแปลกใจเนื่องจากไม่เคยเกิดกิจกรรมทางการเมืองขนาดใหญ่แบบนี้มาก่อน โดยผู้ชุมนุมชูมือแสดงสัญญลักษณ์ 3 นิ้ว ถือป้ายรูปภาพนางอองซาน ซูจี อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐและแกนนำพรรคสันนิบาตรแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) และบุคคลสำคัญอื่น ๆ เช่น นาย อู วิน มิ้นต์ อดีตประธานาธิบดีเมียนมา โดยได้เดินไปตามถนนสายสำคัญๆ ทั่วไปในตัวเมืองท่าขี้เหล็ก
การแสดงออกทางการเมืองครั้งใหญ่ที่ท่าขี้เหล็ก เมืองเศรษฐกิจอันดับต้น ๆ ของรรัฐฉาน นอกจากคนที่ออกมาชุมนุมจำนวนมากแล้ว หลายคนออกมาสนับสนุนด้วยการนำน้ำดื่ม ของขบเคี้ยว มาแจกจ่ายผู้ชุมนุม แม้ขณะนี้เจ้าหน้าที่รัฐของทางการเมียนมาในจังหวัดท่าขี้เหล็ก ยังไม่มีปฏิกิริยาใด ๆ แต่หากมีการปราบปรามหรือสลายการชุมนุม ก็น่าวิตกว่าอาจบานปลายจนกระทบการค้าชายแดนระหว่างไทยกับเมียนมาได้