แบบไหนถึงจะเป็น Sandbox?

16 เม.ย. 2564 | 03:04 น.
อัปเดตล่าสุด :16 เม.ย. 2564 | 10:17 น.

แซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) กลายเป็นคำที่ใช้แพร่หลายในวงการต่างๆ ทำให้อาจเกิดความไม่เข้าใจหรือสับสน ดร. ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ ([email protected]) ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคล และอดีตรองเลขาธิการสายงานเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร สำนักงานคณะกรรมการ นโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จึงได้หยิบยก "แซนด์บ็อกซ์ (Sandbox)" มาอธิบายที่มาที่ไปไว้อย่างชัดเจน

แซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) เป็นชื่อที่ใช้กันมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970s ในยุคเริ่มต้นของการพัฒนาคอมพิวแตอร์ส่วนบุคคลโปรแกรมเมอร์จะสร้างสภาพแวดล้อมที่ตัดขาดจากระบบกลางเพื่อทดสอบโค้ด หรือโปรแกรมที่กำลังพัฒนาไม่ให้ข้อมูลปะปนกัน หรือส่งคำสั่งที่ขัดแย้งจนสร้างความเสียหายกับฮาร์ดแวร์ในส่วนอื่น ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ 

ปัจจุบันการทำแซนด์บ็อกซ์เปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิม เพื่อรองรับระบบฐานข้อมูลที่อยู่บนเทคโนโลยีคลาวด์ เช่น เว็บไซต์ที่สร้างใหม่บนอินเตอร์เน็ต จะถูกนำไปรวมไว้ในกูเกิลแซนด์บ็อกซ์ เพื่อทดสอบและคัดกรอง ผู้พัฒนาจะต้องปรับแต่งเว็บไซต์ให้สอดคล้องกับเงื่อนไขก่อนจึงจะหลุดจากหลุมแซนด์บ็อกซ์ และเปิดใช้งานได้

เนื่องจากความหมายของแซนด์บ็อกซ์ คือกล่องทราย จึงนำไปเปรียบเทียบกับ ‘กระบะทราย’ ที่เด็กใช้เล่นปั้นแต่งทรายให้เป็นรูปร่างต่างๆ ตามจินตนาการ 

คำนี้เริ่มนำมาใช้อย่างแพร่หลายกับโครงการที่ใช้ทดสอบนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นธุรกิจที่จะช่วยอำนวยความสะดวก และยกระดับคุณภาพชีวิต การทดสอบผลิตภัณฑ์ หรือบริการต้นแบบ จะอยู่ภายใต้ระบบนิเวศที่กฏระเบียบไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา แต่ก็ต้องมีการควบคุมกำกับดูแลเพียงพอที่จะไม่หลุดไปสร้างความเสียหายให้ผู้บริโภคในวงกว้าง แนวคิดการทำแซนด์บ็อกซ์ จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่แวดวงคอมพิวเตอร์ 

ในปี 2016 หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลด้านการเงินของอังกฤษได้ทดลองทำ Regulatory Sandbox เพื่อสร้างพื้นที่ผ่อนปรนกฎระเบียบ และสนับสนุนการสร้างโมเดลธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการให้บริการทางการเงิน

Regulatory Sandbox เป็นสนามทดสอบแนวคิดธุรกิจ ผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ ในตลาดจริง ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐ ผู้พัฒนาสามารถทดสอบผลิตภัณฑ์ หรือปรับแต่งโมเดลทางธุรกิจในสภาพแวดล้อมที่ถูกควบคุมโดยไม่ต้องกังวลว่า จะถูกดำเนินการทางกฎหมายหากว่าแนวคิดทางธุรกิจ หรือนวัตกรรมที่คิดสร้างขึ้นนั้นขัดกับกฎระเบียบที่ใช้บังคับอยู่ 

เครื่องมือนี้จะช่วยผู้ประกอบการลดเวลาการเข้าสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ ในขณะที่หน่วยงานรัฐที่กำกับดูแลก็จะได้เรียนรู้ผลกระทบที่เกิดขึ้นภายใต้ตลาดจริง เพื่อที่จะได้ทราบว่ากฎระเบียบ ในปัจจุบันนั้นมีช่องว่าง หรือไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาปรับเปลี่ยนกรอบวิธีคิด และแก้ไขกฎระเบียบให้ทันสมัยต่อไป

เป้าหมายของแซนด์บ็อกซ์ คือทดสอบก่อนนำไปใช้จริง ดูแล้วไม่แตกต่างจากการจัดทำโครงการนำร่อง (Pilot Project) ซึ่งเป็นการทดสอบความเป็นไปได้ของแนวคิด ก่อนนำไปขยายผลในวงกว้าง 

อย่างไรก็ตาม เครื่องมือทั้งสองประเภทแตกต่างกันในหลายประเด็น โครงการนำร่องจะทดสอบผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่ออกแบบแล้วเสร็จกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อขอคำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะก่อนนำไปใช้จริง ซึ่งผู้พัฒนาไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแก้ไขตามข้อเสนอทุกเรื่องก็ได้ 

ในขณะที่การทำ Regulatory Sandbox ตัวผลิตภัณฑ์ หรือบริการยังอยู่ในช่วงพัฒนา และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา โดยมีลักษณะสำคัญ 3 ประการคือ 

1) มีการทดสอบในระบบนิเวศจริงแต่อยู่ภายใต้ข้อจำกัด เช่น จำกัดจำนวนกลุ่มผู้ใช้บริการ จำกัดระยะเวลาทดสอบ และมีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่เหมาะสม เพื่อสามารถควบคุมความเสี่ยงภายใต้สภาพแวดล้อมที่กำหนดให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้  

2) กำหนดกฎเกณฑ์เฉพาะเพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอหรือแนวคิดทางธุรกิจของผู้พัฒนา ซึ่งแตกต่างจากกฎเกณฑ์ที่ใช้อยู่ทั่วไป  

และ 3) มีการผ่อนปรน หรือยกเว้นการใช้บังคับกฎหมาย หรือกฎระเบียบในบางกรณี เช่น ออกใบอนุญาตให้แบบมีเงื่อนไข มีข้อกำหนด หรือแนวปฏิบัติสำหรับผู้พัฒนาที่ร่วมทดสอบ เป็นต้น

ถ้าขาดองค์ประกอบสำคัญทั้งสามประการข้างต้น การทดสอบที่ดำเนินการเพียงกันออกมาเป็นพิเศษเพื่อศึกษาและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น จะไม่เข้าข่ายการทดสอบแบบแซนด์บ็อกซ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง