ศิริราช แจง Sinovac ต้องฉีดเข็ม 2 ภูมิคุ้มกันจึงเพียงพอป้องกันโควิด

01 พ.ค. 2564 | 04:50 น.
อัปเดตล่าสุด :01 พ.ค. 2564 | 12:09 น.

ศิริราช ชี้แจง ข้อมูลที่ถูกต้อง กรณีการติดเชื้อ การได้รับการรักษา และการได้รับวัคซีนโควิด-19 ของบุคลากรทางการแพทย์ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุ ผู้ติดเชื้อเข้าไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยง และฉีดวัคซีน Sinovac ยังไม่ครบ 2 โดส ขณะที่ Sinovac จะเริ่มตรวจพบภูมิคุ้มกันโควิด-19 ในเลือดในปริมาณที่สูงพอต่อการป้องกันโรค หลังได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 แล้ว

รศ. นพ.นริศ กิจณรงค์ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความในสื่อออนไลน์ บอกเล่าประสบการณ์การติดเชื้อ การได้รับการรักษาและการได้รับวัคซีนโควิด-19 ของบุคลากรทางการแพทย์ของศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2564 โดยมีข้อความตอนหนึ่งว่า “ผมฉีดวัคซีน Sinovac 7 เมษายน วัคซีนไม่ช่วยอะไร”

ในการนี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ขอชี้แจงว่า จากหลักฐานทางการแพทย์ได้รายงานว่า การได้รับวัคซีน Sinovac จะเริ่มตรวจพบภูมิคุ้มกันไวรัสโควิด-19 ในเลือดในปริมาณที่สูงพอต่อการป้องกันโรค หลังได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 แล้ว การที่บุคลากรทางการแพทย์ท่านดังกล่าว ได้รับวัคซีน Sinovac เพียงเข็มเดียวในวันที่ 7 เมษายน 2564 และคาดว่าจะได้รับเชื้อโควิด-19 จากการไปรับประทานอาหารในย่านที่มีคนพลุกพล่าน ในวันที่ 12 เมษายน 2564 (5 วันหลังได้รับวัคซีนเข็มแรก) จนกระทั่งมีอาการป่วยในวันที่ 15 เมษายน 2564  และได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 ในวันที่ 17 เมษายน 2564 นั้น ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ท่านดังกล่าวยังไม่มีภูมิคุ้มกันไวรัสโควิด-19 เพราะยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 

เพื่อเป็นการชี้แจงและป้องกันความเข้าใจผิดของประชาชนในเรื่องประสิทธิภาพของการได้รับวัคซีนโควิด-19 ทางคณะฯจึงได้ทำการตรวจสอบข้อมูลและสัมภาษณ์บุคลากรทางการแพทย์ท่านนี้ และขอยืนยันว่า 

ศิริราช แจง Sinovac ต้องฉีดเข็ม 2 ภูมิคุ้มกันจึงเพียงพอป้องกันโควิด

กรณีการติดเชื้อโควิด-19 ของบุคลากรทางการแพทย์รายนี้ ไม่ได้แสดงถึงการขาดประสิทธิภาพของการได้รับวัคซีนโควิด-19 แต่เป็นเพราะการเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงโดยไม่ได้ป้องกันตนเองอย่างเพียงพอ รวมทั้งการได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไม่ครบตามที่กำหนดไว้ในหลักฐานทางการแพทย์ นอกจากนี้บุคลากรทางการแพทย์ท่านนี้ มิได้มีเจตนาที่จะทำให้เกิดความเข้าใจที่คาดเคลื่อนเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 และได้ส่งข้อความชี้แจงและขอโทษในความคลาดเคลื่อนดังกล่าวในวันที่ 25 เมษายน 2564

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตลอดจนขอรณรงค์ให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19  เพราะจากผลการศึกษาทางการแพทย์อย่างแพร่หลายพบว่าการได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 นั้นมีความจำเป็นเพราะสามารถป้องกันการติดเชื้อ และสามารถลดความรุนแรงของโรคโควิด-19 ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง