จากกรณีกระทรวงศึกษาธิการ เลื่อนเปิดเทอม 1/2564 จากวันที่ 1 มิ.ย. ออกไปอีกเป็นวันที่ 14 มิ.ย. ระบุ เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง ในโรงเรียนพื้นที่สีแดง–พื้นที่สีส้ม กรุงเทพฯ–นนทบุรี–ปทุมธานี–สมุทรปราการ และทั่วประเทศ ล่าสุด ศาสตราจารย์ ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ รองคณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาโพสต์ แสดงความคิดเห็น ระบุ ไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนเปิดเทอมดังกล่าว โดยเสนอ ควรเร่ง การพัฒนาเด็กเป็นวาระแห่งชาติ ในช่วงวิกฤต ผ่านระบบรองรับ แก้ปัญหาในหลายรูปแบบ และการต่อสู้เพื่อจองวัคซีนให้กับเด็ก ตามเนื้อหาใจความ ดังนี้ ....
หลังจากทราบข่าวเลื่อนเปิดเทอมของโรงเรียนในสังกัด ศธ. ทั่วประเทศก็ไม่แปลกใจ แต่ที่แปลกใจคือเหตุผลที่ว่าจะรอให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาฉีดวัคซีนให้ได้มากเสียก่อน ซึ่งแม้ว่าโรงเรียนบางแห่งที่พร้อมและผ่านการประเมินในระบบจะสามารถเปิดการเรียนการสอนได้ แต่ก็ทำให้เกิดการลักลั่นในหลายๆระบบ โดยเฉพาะนักเรียนที่ต้องสอบเข้าหรือย้ายโรงเรียน
ขณะนี้นักเรียนปิดภาคเรียนมาตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์-กลางเดือนมีนาคม ซึ่งเราก็หวังมาตลอดว่าจะเห็นนโยบายการดูแลเด็กที่บ้านที่เคยมีคนเตือนกันไว้ตั้งแต่โควิดระบาดรอบแรก แต่ก็ยังไม่เห็นการจัดการอะไรที่ดีขึ้น
นักเรียนอยู่บ้านติดเกม ติดโซเชียล
นักเรียนอยู่บ้านมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย และถูกคุกคาม ทั้งเรื่องความรุนแรงในครอบครัวจากพ่อแม่ที่มีความเครียดมากขึ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ
นักเรียนอยู่บ้านมีความเครียดเพราะไม่ได้พบปะเพื่อน ตามประสาวัยเด็ก
นักเรียนอยู่บ้านมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยจากบุคคลภายนอก โดยเฉพาะเด็กหญิง
นักเรียนอยู่บ้านขาดสารอาหาร ไม่มีกิน ไม่ได้รับอาหารที่ควรได้รับ
เราเรียนรู้อะไรกันบ้างจากการปิดเทอมปีที่แล้ว?
นอกจากทำแอฟครูพร้อม หานักพูด/ผู้รู้ต่างๆ มาถ่ายทอดความรู้ให้ครู จัดทำระบบออนแอร์ด้าน supply ครู แต่ไม่เคยเตรียมความพร้อมให้กับฝั่ง demand คือตัวเด็กและผู้ปกครองเลย
คล้ายๆกับปิดเทอมโควิดปีที่แล้ว ปีนี้งานกระทรวงฯก็เตรียมเฉพาะงานที่โรงเรียน แต่ลืมไปว่านี่คือ “วิกฤต” เด็กหลายล้านคนที่ท่านต้องดูแลได้กลายเป็นเด็กติดเกมกี่คน ถูกฆ่าตายไปกี่คน ติดยาไปกี่คน พิการไปกี่คน หรือมีผู้ปกครองหมดหวังสิ้นหวังไปกี่คน?
เราไม่อยากแค่บ่น แต่เราอยากเห็น
- การเตรียมความพร้อมให้เด็กอยู่บ้านปิดเทอมอย่างปลอดภัย
- การให้การบ้านหรือกิจกรรมกับเด็กในกรณีโรงเรียนเปิดไม่ได้ยาวนานชึ้น
- การส่งข้อมูลข่าวสาร จัดระบบหนังสือ นิทาน หรือข่าวสารให้เด็กรับรู้ระหว่างปิดเทอม หรือประสานห้องสมุด สำนักพิมพ์ให้เด็กเข้าถึงหนังสือหรือนิทานได้
- การเตรียมความพร้อมให้เด็กเรียนออนแอร์ ออนไซท์ หรือออนไลน์ เมื่อต้อวเปิดเทอมแบบไม่ปกติหรือปกติใหม่ เช่น การลงทะเบียนสร้างอีเมล์ให้เด็กทุกคน การสร้างเสริมทักษะด้านไอที (ไม่ใช่วันๆเล่นแต่เกม/โซเขียลบนไอที)
ที่สำคัญเราอยากเห็น...
- การต่อสู้เพื่อจองวัคซีนให้กับเด็ก เพื่อเป็นการวางแผนต่อรองให้เด็กพร้อมที่สุดสำหรับการหยุดอยู่บ้านและการไปเรียนที่โรงเรียน อยากให้กระทรวงแซงคิวให้เด็กโตได้ฉีดวัคซีนนอกจากที่ครูจะได้ฉีด เด็กเล็กก็จะปลอดภัยไปด้วย ผู้ปกครองก็จะอุ่นใจ
ในที่ประชุมเรื่องเด็ก ทุกคนในที่ประชุมจะพูดว่า “เด็กคืออนาคตของชาติ” “เด็กคือความหวังของชาติ” “เด็กคือทรัพยากรที่มีค่าของชาติ” ฯลฯ
แต่เราปล่อยเด็กมา 2 ปีแล้ว ปิดเทอมใหญ่มาสองครั้ง เราทำอะไรมากขึ้นบ้าง? หมายถึงก้บตัวเด็กจริงๆ ไม่ใช่เอาเวลามาพัฒนาครู พัฒนาระบบที่จะเปิดเรียน หรือเลื่อนการเปิดเรียนไปเรื่อยๆเมื่อครูไม่พร้อมหรือโรงเรียนไม่พร้อม
เรื่องเด็กเป็นเรื่องใหญ่ เกี่ยวพันกับผู้ใหญ่ที่ต้องมาดูแลความเป็นอยู่ อาหาร 3 มื้อที่บ้านในขณะที่ต้องทำงานในช่วงเวลาที่รายได้บางคนแทบเป็นศูนย์ การแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองจากกระทรวงฯเป็นเรื่องจำเป็นภายใต้วิกฤตนี้
อยากเห็นการพัฒนาเด็กเป็นวาระแห่งชาติในช่วงวิกฤต เริ่มได้จากการเจรจาต่อรองวางแผนให้เด็กเรื่องวัคซีน การจัดทำ priority ให้ความสำคัญกับการกินอยู่และความปลอดภัยของเด็ก ไม่ใช่ทิ้งให้เป็นภาระของผู้ปกครอง และ ศบค. และหมอเด็กเพียงอย่างเดียว อย่าบอกว่าไม่มีวัคซีนเด็ก “วัคซีนไม่มาถ้าไม่ขอ ไม่จอง ไม่วางแผนเฉพาะกลุ่มล่วงหน้า” มีหลายแห่งกำลังพัฒนา มีบางแห่งที่ฉีดแล้ว เราคิดเพื่อเด็กกันถึงไหนแล้ว?
ท่านนำเสนอประเด็น พิจารณาร่วมกัน แก้ปัญหาร่วมกัน หรือหากท่านทำไปที่ว่าทั้งหมดแล้ว ขอให้ออกมาให้ข้อมูล ชี้แจงอุปสรรคและปัญหา เพื่อการแก้ปัญหาร่วมกัน ประชาชนจะได้อุ่นใจ ไม่อยากให้ท่านเลื่อนไปเรื่อยๆ และไม่เรียนรู้อะไรจากปีก่อนๆเลย เพราะถ้าทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ “ครูพร้อม” ก็ไม่ช่วยอะไร
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง