2 ก.ค.2564 - สมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงแห่งประเทศไทย (สธก) โพสต์ข้อความ ระบุว่า .... ในนามสมาพันธ์ฯ ขอแจ้งความคืบหน้าขั้นแรก จากการที่พวกเราทั้ง 6 ชมรมได้เข้าไปยื่นหนังสือในนามของสมาพันธ์ ตามกลไกของทางภาครัฐทั้ง 5 ครั้ง
ณ วันนี้ ด้วยความร่วมมือของสมาชิกทุกคน ทำให้เราได้มีโอกาสที่จะเข้าไปร่วมพูดคุยถึงการแก้ปัญหาระยะสั้น และระยะยาวกับทางภาครัฐหน่วยงานแรกแล้ว สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เรามั่นใจว่า การที่พวกเรามีจุดหมายเดียวกัน สารที่เราพร้อมใจที่จะส่งออกไปนั้น มันดัง และไปถึงเค้าได้จริงๆ
แม้ว่าผลจะออกมาตรงความต้องการ หรือไม่ ทางสมาพันธ์ขอให้ทุกท่านช่วยส่งกำลังใจ และขอให้เชื่อใจว่าพวกเราจะไม่ทอดทิ้งใครอย่างแน่นอน ที่ผ่านมาเราต่างคนต่างใช้ชีวิตในเส้นทางของตัวเอง แต่อยากให้ทุกคนรู้ไว้ว่า พวกเราคือคนกลุ่มเดียวกัน ที่ใช้เวลาหลังพระอาทิตย์ตกดิน ขับเคลื่อนให้โลกนี้ ยังคงเป็นโลกของมนุษย์อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ในหนังสือดังกล่าว ระบุจั่วหัว ด่วนที่สุด เรื่อง ขอเชิญเช้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อพิจารณาศึกษาเรื่อง "มาตรการชดเชยเยียวยาสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหาร ผับ บาร์ ธุรกิจบันเทิง
และธุรกิจกลางคืน" ในวันพฤหัสบดีที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา เป็นต้นไป ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ (สผ.) ๔๐๔ ชั้น ๔ อาคารรัฐสภา
ในการนี้ คณะกรรมาธิการพิจารณาแล้วเห็นว่าประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับภารกิจของ หน่วยงานของท่าน เพื่อให้การพิจารณาของคณะกรรมาธิการเป็นไปด้วยความรอบคอบ ได้รับทราบข้อมูล ข้อเท็จจริงจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถให้ช้อคิดเห็นและช้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์
จึงขอเชิญท่านหรือผู้แทนเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการ เพื่อให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงในประเด็นผลกระทบที่ผู้ประกอบการร้านอาหาร ผับ บาร์ ธุรกิจบันเทิง และธุรกิจกลางคืน ได้รับจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 และประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพิจารณาศึกษา
ทั้งนี้ ในกรณีมีผู้ติดตามขอความกรุณาท่านพิจารณา จำนวนตามความเหมาะสมไม่เกิน ๙ คน
โดย วานนี้ (1 ก.ค.) สมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง ส่งตัวแทนเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึก ต่อ นายกรัฐมนตรี เพื่อทวงถาม หารือ และส่งต่อข้อเรียกร้องเป็นครั้งที่ 5 หลังระบุว่า จาก พรก.ฉุกเฉิน ที่มีการกำหนดให้มีการปิดสถานบริการ หรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงทั้งหมด
ซึ่งไม่ได้มีแต่เจ้าของธุรกิจ หรือผู้ประกอบการแต่รวมไปถึงลูกจ้างทุกประเภททั้งที่เข้าระบบประกันสังคม และกลุ่มอาชีพอิสระที่รับค่าจ้างแบบรายวัน เช่น นักดนตรี พนักงานเสิร์ฟ บาร์เทนเดอร์ พนักงานเชียร์สินค้า พนักงานโบกรถ พ่อค้าแม่ค้าที่ขายของในตลาดกลางคืน ร้านอาหารข้างทางต่าง ๆ เป็นต้น
ที่ผ่านมายังมีผู้ได้รับผลกระทบและไม่สามารถเข้าถึงการเยียวยาจากภาครัฐได้อย่างครบถ้วน พร้อมยืนยันใน 8 ข้อเรียกร้อง “แนวทางการช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง”