นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระหว่างเดือน ม.ค. - มิ.ย.64 ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีปริมาณมูลฝอยติดเชื้อ 11,393 ตัน หรือเฉลี่ย 63 ตัน/วัน แบ่งเป็นมูลฝอยติดเชื้อทั่วไปที่เก็บขนและกำจัดจากสถานบริการด้านสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข และคลินิก ปริมาณทั้งสิ้น 8,299 ตัน หรือเฉลี่ย 46 ตัน/วัน และมูลฝอยติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงหน้ากากอนามัยใช้แล้วที่เก็บขนและกำจัดจากสถานพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สถานที่กักตัวของรัฐและโรงแรมทางเลือกสำหรับผู้กักตัว โรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาลโรงแรม (Hospitel) หน่วยบริการตรวจเชิงรุก ศูนย์บริการฉีดวัคซีน และสถานที่สำหรับผู้กักตัวในอาคารพักอาศัยประเภทต่าง ๆ เช่น หอพัก อพาร์ทเมนท์ คอนโดมิเนียม และบ้านพักอาศัย ปริมาณทั้งสิ้น 3,094 ตัน หรือเฉลี่ย 17 ตัน/วัน
กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ได้วางแนวทางการบริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) รวมถึงผู้กักตัวในอาคารพักอาศัยประเภทต่าง ๆ เช่น หอพัก อพาร์ทเมนท์ คอนโดมิเนียม และบ้านพักอาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยให้คำแนะนำและขอความร่วมมือคัดแยกมูลฝอยติดเชื้อออกจากมูลฝอยทั่วไป โดยขอให้นำขยะใส่ถุง ซ้อน 2 ชั้น มัดปากถุงให้แน่น ราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ รวบรวมและแยกไว้ภายในบริเวณที่พักอาศัย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ออกสู่สิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งให้สำนักงานเขตจัดรถเก็บขนมูลฝอยเฉพาะ เก็บรวบรวมไปยังจุดพักรวมมูลฝอยติดเชื้อของสำนักงานเขต เพื่อให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด จัดเก็บรวบรวมและนำไปกำจัดในเตาเผามูลฝอยติดเชื้อที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชและหนองแขม หรือสำนักงานเขตเก็บรวบรวมส่งไปกำจัดที่เตาเผามูลฝอยชุมชนหนองแขม ซึ่งจะเผาทำลายอย่างถูกวิธีวันต่อวัน ส่วนมูลฝอยติดเชื้อจากศูนย์พักคอยรอการส่งต่อผู้ป่วยโควิด-19 จะประสานบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ดำเนินการเก็บขนและนำไปกำจัดต่อไป
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้เน้นย้ำและขอความร่วมมือประชาชนแยกทิ้งหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 รวมถึงเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเก็บขนมูลฝอยติดเชื้อ โดยขอให้ทิ้งหน้ากากอนามัยใส่ถุงที่ปิดสนิท มัดปากถุงให้แน่น เขียน หรือติดหน้าถุงว่า “หน้ากากอนามัย” และแยกทิ้งให้กับรถเก็บขนมูลฝอยของสำนักงานเขต หรือทิ้งในถังรองรับหน้ากากอนามัยเฉพาะ (สีส้ม) ซึ่งตั้งวางในพื้นที่สาธารณะประมาณ 1,000 จุด ประกอบด้วยสำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. โรงพยาบาลสังกัด กทม. ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) และศาลาว่าการ กทม. (ดินแดง) โรงเรียนสังกัด กทม. ศูนย์กีฬา กทม. ศูนย์เยาวชน กทม. สถานีดับเพลิง สวนสาธารณะ และสถานที่สาธารณะที่เหมาะสม เช่น ตลาด วัด ชุมชน หน้าห้างสรรพสินค้า และอาคารสำนักงาน เคหะชุมชนต่าง ๆ อีกทั้งได้ขอความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถานประกอบการ และอาคารต่าง ๆ ในการตั้งวางถังรองรับหน้ากากอนามัย เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครตระหนักถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเก็บขนมูลฝอยในขณะปฏิบัติงาน โดยได้มอบชุดป้องกันการติดเชื้อ หน้ากากอนามัย ถุงมือยาง ถุงมือผ้า แว่นตา รองเท้าบูท หน้ากากสวมป้องกันใบหน้า (Face Shield) และเจลแอลกอฮอล์ พร้อมทั้งให้ความรู้ และเน้นย้ำการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลทุกครั้งที่ปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันอันตรายจากเชื้อโรคและลดความเสี่ยงจากการสัมผัสมูลฝอยติดเชื้อโควิด-19