นายแพทย์นนท์ จินดาเวช รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ (สสจ.สมุทรปราการ) ระบุว่า จากสถานการณ์ เพลิงไหม้ใหญ่โรงงานผลิตเม็ดโฟม ของบริษัท หมิงตี้ เคมีคอล ในซอยกิ่งแก้ว 21 อ.บางพลี จ.สมุทรปราการนั้น สสจ.ยังไม่แนะนำให้ประชาชนที่อพยพออกไป กลับเข้าพื้นที่ หรือกลับไปดูบ้านเรือน เพราะยังต้องรอให้ไฟดับสนิทจริงๆ และต้องได้รับการยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะไม่เกิดการปะทุซ้ำขึ้นมาอีก
นอกจากนี้ ยังต้องรอผลตรวจค่าสารพิษรอบพื้นที่ก่อน พร้อมยืนยันว่าสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการเข้ามาดูแลมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัดในศูนย์อพยพทุกแห่งด้วย
ทางด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าววานนี้ (6 ก.ค.) ว่า จากกรณีเหตุระเบิดและเพลิงไหม้โรงงานเม็ดโฟมพลาสติกย่านกิ่งแก้วนั้น ได้มีการสั่งการไปยังหน่วยงานในสังกัดทั้งในส่วนกลาง ได้แก่ กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ให้ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ของควันพิษอย่างต่อเนื่อง พร้อมทีมลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานในส่วนภูมิภาค ได้แก่ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดชลบุรี เพื่อคัดกรองสุขภาพผู้ที่ได้รับผลกระทบในรัศมีที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่วันที่ 6-7 กรกฎาคม 2564 เพื่อประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยอีกครั้ง
ทั้งนี้ จะเน้นการเฝ้าระวัง 2 กลุ่ม คือ
โดยสารเคมีที่ทำให้เกิดควันพิษในครั้งนี้คือ สารเคมีสไตรีนโมโนเมอร์ เป็นสารเคมีที่มีลักษณะเป็นของเหลว ใส ไม่มีสี แต่มีกลิ่นเฉพาะตัว สามารถกลายเป็นไอระเหยและลุกติดไฟได้ และพิษจากสารเคมีอื่นๆ ที่เกิดจากการเผาไหม้สไตรีน ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ควันดำหรือฝุ่น PM10 และ PM2.5 ถ้าสูดดมเข้าไป จะทำให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ ปวดศีรษะ มึนงง อ่อนเพลีย คลื่นไส้และมึนเมา หากได้รับสารพิษปริมาณมาก อาจทำให้เกิดอาการหมดสติและเสียชีวิตได้ หรือถ้าสัมผัสถูกผิวหนัง จะรู้สึกระคายเคืองผิว ทำให้ผิวแดง แห้ง และแตก ซึ่งสารสไตรีนโมโนเมอร์ยังเป็นสารที่อาจก่อให้เป็นมะเร็งได้
นอกจากนี้ ผลกระทบจากควันพิษดังกล่าว ประชาชนอยู่ในรัศมี 5 กม. ต้องอพยพด่วนที่สุด ส่วนประชาชนที่อยู่ในรัศมี 7 กม. ให้เฝ้าระวังสูงสุด และรัศมี 10 กม. ให้เฝ้าระวัง
อธิบดีกรมควบคุมโรค ยังระบุว่า ควันพิษอาจส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่มีความเสี่ยงป่วยจาก 4 กลุ่มโรค คือ
ทั้งนี้ ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอด หอบหืด ภูมิแพ้ เป็นต้น หากได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยหรือมีผลกระทบต่อสุขภาพที่รุนแรงมากกว่าประชาชนทั่วไป ขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากควันพิษ สวมใส่หน้ากากที่มีไส้กรองทำด้วยชาร์โคลเป็นวัสดุดูดซับ (CHACOAL MASK) และติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมความพร้อมอยู่เสมอหากมีการประกาศอพยพเพิ่มเติม