สัญญาณการ “ล็อกดาวน์” หรือ “Full Lockdown” ทั้งประเทศ เกิดขึ้นอีกครั้ง เพราะสถานการณ์โควิดในประเทศเริ่มเอาไม่อยู่ ล่าสุดยอดผู้ติดเชื้อในประเทศวันนี้ (8 ก.ค.64) ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่ม 7,058 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 75 คน หายป่วยเพิ่ม 4,978 ราย ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 279,367 ราย จนเกิดวิกฤติเตียงรักษาผู้ป่วย บุคคลากรทางการแพทย์เริ่มขาดแคลน การตรวจเชื้อโควิดมีปัญหา ที่ผ่านมามีความเห็นจากคุณหมอหลายท่านมีข้อเสนอ “ล็อกดาวน์” กันมาเยอะพอสมควร
ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ก็เป็นอีกคนที่มีความเห็นมาอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด ศ.นพ.มานพ ระบุว่า ผ่านมา 10 วันของมาตรการสกัดการระบาด เชื่อว่าทุกคนคงบอกได้ว่าประสบผลสำเร็จหรือไม่ จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ยังสูงขึ้นเรื่อย ๆ สอดคล้องกับการระบาดของ Delta variant ที่เดินตามหลายประเทศก่อนหน้านี้
คาดว่าภายในเดือนนี้สายพันธุ์นี้น่าจะแทนที่ Alpha variant เป็นสายพันธุ์หลักของประเทศ หลังจากยึดครองกรุงเทพได้แล้วภายในครึ่งเดือนแรก
บทเรียนจากประเทศอังกฤษในช่วงการกินส่วนแบ่งตลาดของ Delta variant ในระยะแรก จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นราว 3 เท่าจากฐานเดิม ประเทศไทยก็เดินมาถึงจุดนี้เหมือนกันคือจาก 2-3 พันคน มาเป็น 6,500 คนเมื่อวานนี้ (แม้ว่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงไม่น้อย จากข้อมูล positive rate ที่ชี้ว่าเราตรวจน้อยเกินไป) ถ้าดูแบบแผนการระบาดของอังกฤษจะเห็นว่าหลังจาก Delta variant ยึดครองพื้นที่ได้หมด จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังพุ่งสูงขึ้นอีก 3-4 เท่าถ้าไม่มีมาตรการอะไรเพิ่มเติม
ข้อมูลผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยใน ICU เพิ่มมากแค่ไหน ตัวเลขที่สื่อนำเสนอคงเห็นกันอยู่ เมื่อวานมีผู้ป่วยหนักสูงเป็นอันดับ 12 ของโลก แม้จะระดมสร้าง รพ.จริง จัดหาเตียง เนรมิตเครื่องช่วยหายใจ ออกซิเจน อุปกรณ์การแพทย์ต่าง ๆ ได้ชั่วข้ามคืน ก็ไม่สามารถเพิ่มจำนวนบุคลากรได้มากกว่านี้อีก
ทางเลือกอื่นในการสกัดการระบาด ไม่ว่าจะเป็นการระดมสร้างภูมิคุ้มกันผ่านวัคซีน กทม. และอีกหลายจังหวัดเสี่ยงมีการฉีดวัคซีนไปพอสมควร
แต่ด้วยประสิทธิภาพของวัคซีน ระยะเวลาในการกระตุ้นภูมิ รวมถึงจำนวนผู้ได้รับวัคซีนที่ยังไม่มากพอ หวังผลไม่ได้
การตรวจก็มีข้อจำกัด ตัวเลขการตรวจรวมรายสัปดาห์ ฉบับล่าสุดของกรมวิทย์ยังไม่เผยแพร่ออกมา แต่ถ้าดูข้อมูล ศบค ในตาราง ตรวจหาผู้ติดเชื้อได้ต่ำมาก กทม และปริมณทล ตรวจได้เพียงวันละ 3 พันคน และมี positive rate ที่สูงมาก ๆ จนน่าตกใจ การค้นหาผู้ป่วยและแยกโรคแทบเป็นไปไม่ได้
ในเมื่อสองทางเลือกข้างต้นทำไม่ได้ คงเหลือทางสุดท้ายในการตัดตอนการระบาด คือ full lockdown
ก่อนหน้านั้นผู้บริหาร ศบค. กล่าวไว้ว่า การทำ full lockdown แบบช่วงเมษายนปีที่ผ่านมา รัฐหมดค่าใช้จ่ายถึงเดือนละ 3 แสนล้านบาท เงินจำนวนนี้สามารถเพิ่ม capacity ในการตรวจเชื้อ ปรับปรุงระบบการเฝ้าระวังการระบาด เพิ่มศักยภาพของระบบโรงพยาบาล ซื้อวัคซีนประสิทธิภาพสูง วางแผนการจัดหาและกระจายรวดเร็ว และมีปริมาณเกินพอสำหรับคนทั้งประเทศได้
“บางที พวกเราในฐานะประชาชน ควรใช้เหตุการณ์ทั้งหมดเป็นบทเรียนว่า เราปล่อยให้สถานการณ์เดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร”