รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
สถานการณ์ทั่วโลก 8 กรกฎาคม 2564
เมียนมาร์ติดเพิ่มเกือบสี่พันคน ทำลายสถิติอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เกาหลีใต้ติดเพิ่มทะลุหลักพันคนต่อวันแล้ว
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 438,166 คน รวมแล้วตอนนี้ 185,803,537 คน ตายเพิ่มอีก 7,836 คน ยอดตายรวม 4,016,724 คน
5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุด ยังเป็นเช่นเดิม คือ บราซิล อินเดีย อินโดนีเซีย สหราชอาณาจักร และโคลอมเบีย
อเมริกา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 12,714 คน รวม 34,637,407 คน ตายเพิ่ม 175 คน ยอดเสียชีวิตรวม 621,755 คน อัตราตาย 1.8%
อินเดีย ติดเพิ่ม 45,196 คน รวม 30,708,092 คน ตายเพิ่ม 814 คน ยอดเสียชีวิตรวม 405,054 คน อัตราตาย 1.3%
บราซิล ติดเพิ่ม 54,022 คน รวม 18,909,037 คน ตายเพิ่มถึง 1,524 คน ยอดเสียชีวิตรวม 528,540 คน อัตราตาย 2.8%
ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 4,081 คน ยอดรวม 5,794,665 คน ตายเพิ่ม 28 คน ยอดเสียชีวิตรวม 111,259 คน อัตราตาย 1.9%
รัสเซีย ติดเพิ่ม 23,962 คน รวม 5,682,634 คน ตายเพิ่ม 725 คน ยอดเสียชีวิตรวม 140,041 คน อัตราตาย 2.5%
อันดับ 6-10 เป็น ตุรกี สหราชอาณาจักร อาร์เจนติน่า โคลอมเบีย และอิตาลี ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น
แถบอเมริกาใต้ แอฟริกา เอเชีย อย่างชิลี โบลิเวีย แซมเบีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เนปาล ญี่ปุ่น เมียนมาร์ เกาหลีใต้ และมาเลเซีย ติดกันเพิ่มหลักพัน
แถบยุโรป บางประเทศกำลังเผชิญการระบาดซ้ำ เช่น เนเธอร์แลนด์ ล่าสุดเพิ่มถึง 3,646 คน เป็นช่วงขาขึ้น หากอีก 7-14 วันยังไม่สามารถคุมได้ จะเข้าสู่ระลอกห้าเต็มตัว ส่วนอิตาลีก็ติดเพิ่มทะลุพันคนเป็นครั้งแรกตั้งแต่ 20 มิถุนายน 2564 เป็นต้นมา
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่ม ส่วนใหญ่อยู่หลักร้อย ยกเว้นคาซักสถาน คีร์กีซสถาน จอร์เจีย และมองโกเลียที่ติดเพิ่มหลักพัน
แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ในขณะที่อิหร่านหลักหมื่นอย่างต่อเนื่อง เป็นระลอกสี่ชัดเจน
เวียดนาม และกัมพูชา ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน ไต้หวัน ลาว สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ฮ่องกง และนิวซีแลนด์ ติดเพื่มต่ำกว่าสิบ
หมอธีระ ระบุอีกว่า มองสถานการณ์ไทยเราด้วยความเศร้าใจ
ล่าสุดจำนวนเคสรุนแรงและวิกฤติ สูงเป็นอันดับที่ 11 ของโลก ตามข้อมูลจาก Worldometer เช้านี้
ปัญหาด้านการบริหารและวิชาการ นำไปสู่การตัดสินใจดำเนินนโยบายและมาตรการควบคุมป้องกันโรค และแผนจัดซื้อจัดหาวัคซีน ที่ไม่สามารถรับมือกับการระบาดหนักจากระลอกสองและสามนี้ได้ เกิดผลลัพธ์ดังที่เห็นในปัจจุบัน ที่ไม่สามารถควบคุมป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสูญเสียมากมาย โดยยังไม่เห็นแสงสว่าง และไม่เห็นปลายทาง
บัดนี้พิสูจน์กันให้เห็นชัดเจนแล้วว่า นโยบายและมาตรการที่ห่วงเศรษฐกิจมากกว่าการตัดวงจรการระบาดนั้น นำพาไปสู่หายนะที่หนักหนาเพียงใด
แนวคิดที่จะสร้างสมดุลเศรษฐกิจและสุขภาพนั้น เป็นแนวคิดโลกสวย เหมือนวิ่งในทุ่งดอกไม้ ฟ้าใส ลมโกรก แต่หากฝืนผลักดันทำไป โดยที่ยังระบาดหนัก และระบบสนับสนุนพื้นฐานทั้งเรื่องคนเงินของเตียงหยูกยาและวัคซีน รวมถึงระบบการตรวจคัดกรองโรค ไม่พร้อมและไม่เพียงพอ ก็ย่อมไม่มีทางสำเร็จ
ณ จุดนี้แล้ว ศึกโรคระบาดนั้นยืดเยื้อ มีแนวโน้มลากยาวไปอย่างน้อยกลางปีหน้า สิ่งที่จำเป็นต้องทำคือ
1. ปรับเปลี่ยนระบบการจัดซื้อจัดหาวัคซีนเดิม ยกเลิกการสั่งซื้อวัคซีนที่มีประสิทธิภาพจำกัด และทำทุกทางเพื่อจัดหาวัคซีนประสิทธิภาพสูง
2. ทุ่มทรัพยากรเพื่อขยายกำลังการตรวจคัดกรองโรค เลิกมายาคติที่จัดบริการเฉพาะกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มมีประวัติสัมผัส เพราะปัจจุบันกระจายไปทั่ว จำเป็นต้องให้คนสามารถเข้าถึงบริการให้ได้อย่างครอบคลุม ทั้งไทยและต่างชาติ
3. หยุดนโยบายเกาะสวรรค์ท่องเที่ยวต่างชาติ ก่อนจะเกิดวิกฤติกล่องทรายมาซ้ำเติมสถานการณ์ระบาดในประเทศ
4. เตรียมระบบสวัสดิการสังคม"ขั้นพื้นฐาน" ได้แก่ อาหาร น้ำ การศึกษา หยูกยาที่จำเป็น การสื่อสาร พลังงาน และความปลอดภัย ให้กับประชาชนเพื่อเตรียมจำศีลระยะยาวอย่างน้อย 4-8 สัปดาห์ ทั้งนี้ให้เตรียมแผนปฏิบัติการฉีดวัคซีนต่อเนื่อง โดยเน้นมาตรการผสมผสาน ใช้หน่วยเคลื่อนที่ จุดไดร์ฟทรู และการนัดหมายมารับ ณ จุดบริการ
5. ชะลอแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดการใช้เงินกู้ในแผนเศรษฐกิจ
6. ประกาศนโยบายให้ทุกหน่วยงานช่วยกันรัดเข็มขัด
7. ล็อกดาวน์ โดยจำเป็นต้องแจ้งต่อประชาชนถึงเป้าหมายที่ชัดเจน และระยะเวลาแต่ละระยะ ทั้งนี้ให้ทำใจไว้ล่วงหน้าว่า การล็อกดาวน์ระยะสั้นจะไม่ได้ผลสำหรับตัดวงจรการระบาดที่มีความรุนแรงและปล่อยไว้ยาวนานหลายเดือนแบบที่เรากำลังเผชิญ
การรวมใจคนนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อภาวะผู้นำต้องมีชัดเจน โปร่งใส แสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่ผิดพลาดไปนั้นจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไม่ใช่ปล่อยให้ลืมเลือนกันไปตามเวลา จำเป็นต้องปรับกลไกนโยบายและกลไกวิชาการ ผ่านมาครึ่งปี ผลลัพธ์เห็นชัดเจน ไม่ควรปล่อยให้ดำเนินการต่อไป
หลายประเทศเคยระบาดหนักมาแล้ว แต่ยอมรับความจริง และปรับเปลี่ยนกลไกบริหาร กลไกวิชาการ ก็สามารถจัดการการระบาด ดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนได้
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมตัวเลขสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 8 กรกฏาคม 64 จากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นรวม 7,058 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,990 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 68 ราย ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 279,367 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 75 ราย หายป่วยเพิ่ม 4,978 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 208,723 ราย