"ล็อกดาวน์"? หมอนิธิพัฒน์เผยผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจพุ่ง 50% ใน 36 วัน

08 ก.ค. 2564 | 00:55 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ค. 2564 | 14:15 น.

หมอนิธิพัฒน์เผยข้อมูลจำนวนผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจพุ่งขึ้น 50% ภายใน 36 วัน ระบุยอดแท้จริงอาจสูงกว่านี้ ถ้านับรวมรายที่แพทย์และญาติพิจารณาไม่ใสท่อช่วยหายใจ ลุ้นใช้มาตรการเด็กขาดล็อกดาวน์หรือไม่

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความว่า  
เรามาถึงสถานการณ์ตรงนี้กันได้อย่างไร วิกฤตโควิดระลอกแรกเราใช้เวลากันไม่ถึงสามเดือนสยบเจ้าตัวร้ายด้วยมาตรการล็อกดาวน์ ประเทศได้รับการชื่นชมจากนานาชาติ เราวางแผนกันไว้ว่าจะพยายามหน่วงเหนี่ยวการระบาดไว้ไม่ให้หนักเกินศักยภาพทางการแพทย์ เพื่อรอการเตรียมปริมาณวัคซีนให้เพียงพอแบบพึ่งตัวเองได้ แล้วเริ่มระดมฉีดวัคซีนในไตรมาสที่สามและสี่ของปีนี้ รวมถึงไตรมาสแรกของปีหน้า และถ้าเป็นเช่นนั้นเราจะเริ่มผ่อนคลายตามวิถีชีวิตใหม่ได้ในช่วงสงกรานต์ปีหน้า ควบคู่ไปกับแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจชาติที่เดินหน้าเต็มสูบ 
จะโทษพ่อเมืองสาครดีไหม วิกฤตโควิดระลอกสองก่อกำเนิดในพื้นที่ปกครองของท่านก่อนสิ้นปีเก่าที่แล้วไม่นาน ทั้งที่เป็นเรื่องที่มีคนอื่นชักศึกเข้าบ้านที่ท่านดูแลอยู่โดยแท้ ยังดีว่าการระบาดมีความหนาแน่นเป็นบางหย่อมของประเทศ เราจึงได้ยินเรื่องของมาตรการระดับสีต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ตามปริมาณผู้ป่วยรายวัน และคำว่าล็อคดาวน์เริ่มจางหายไป แม้จะมีพวกสายเหยี่ยวคอยกระตุกให้หัวเรือใหญ่เอามาตรการนี้กลับมาใช้เป็นครั้งคราว แต่พวกสายพิราปที่ไม่รู้ว่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมจริงไหมก็มักจะได้รับชัยชนะ เราจึงเห็นมาตรการทางการแพทย์จำนวนมากออกมาแต่หาคนช่วยสอดส่องให้ทำตามได้ยาก คู่ไปกับมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจฝันเฟื่องจำนวนมากกว่ามากมายที่หลายฝ่ายเสนออกมา ยิ่งได้รับแรงกระตุ้นจากการเริ่มฉีดวัคซีนโควิดในต่างประเทศ ความหวังจึงเรืองรองขึ้นมาโดยพลัน

ช่วงกลางต่อปลายเดือนมีนาคมปีนี้ วิกฤตโควิดระลอกสามระอุขึ้นกลางเมืองหลวง แล้วลุกลามเป็นวงกว้างท่ามกลางความขัดแย้งเกี่ยวกับนโยบายจัดหา จัดซื้อ และจัดสรรวัคซีน มีการชิงไหวชิงพริบของตัวละครที่มีหน้าที่ในการควบคุมโรคทั้งทางตรงและทางอ้อมกันจนน่าเวียนหัว ประชาชนส่วนใหญ่เริ่มสับสนและเบื่อหน่ายสถานการณ์ในภาพรวมจนทนกันจะไม่ไหว โรดแมปของประเทศเรื่องวัคซีนและการฟื้นฟูประเทศจึงคลุกฝุ่นไม่เป็นท่า
มาถึงต้นเดือนที่แล้ว เจ้าตัวเปลี่ยนเกมสายพันธุ์เดลตานำมาซึ่งวิกฤตที่ผมเรียกว่าระลอกสี่ การระบาดกระจายไปในวงกว้างอย่างรวดเร็ว จนล้นเกินศักยภาพของภาคการแพทย์ที่เตรียมไว้หลายเท่าตัว บุคลากรทางการแพทย์เริ่มอ่อนล้า ผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่โควิดได้รับผลกระทบรุนแรง นำมาซึ่งการประชุมเครียดร่วมกันระหว่างภาคการแพทย์และฝ่ายบริหารสูงสุดของรัฐในวันศุกร์ที่ 25 มิ.ย. และออกมาเป็นมาตรการล็อกดาวน์แบบจำกัดขอบเขตที่ผ่านมาแล้ว 9 วันจากเป้าหมาย 30 วัน โดยที่ยังไม่ได้ตกลงกันชัดเจนว่าจะใช้อะไรเป็นดัชนีชี้วัด

\"ล็อกดาวน์\"? หมอนิธิพัฒน์เผยผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจพุ่ง 50% ใน 36 วัน
หมอนิธิพัฒน์ ระบุอีกว่า สองวันก่อนหลังเลิกประชุมเตรียมความพร้อมทางการแพทย์รับมือโควิด ผมมีโอกาสนั่งคุยเป็นการส่วนตัวกับแพทย์อาวุโสที่เคารพท่านหนึ่ง ในฐานะรุ่นพี่และผู้บังคับบัญชา เราเคยร่วมงาน ร่วมกิน ร่วมเที่ยว พร้อมพบปะลูกศิษย์ลูกหามากมายทั่วประเทศ ระยะหลังแม้จะห่างหายกันไปตามทางของแต่ละคน ก็เจ้าโควิดนี่แหละชักนำให้ต้องมาร่วมงานใกล้ชิดกันอีกครั้ง เราเม้าท์มอยถึงบรรยากาศการประชุมเมื่อศุกร์ก่อนกันกว่าชั่วโมง ผมในฐานะละอ่อนนับเป็นบุญหัวที่ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุม ได้เห็นความเป็นไปของตัวละครทั้งที่โลดแล่นพลิกพลิ้วกระบวนท่าไปตามที่ตนถนัด ได้เห็นความมุ่งมั่นของคนนั่งหัวโต๊ะที่พยายามหาข้อสรุปเชิงปฏิบัติที่ทุกฝ่ายพอรับร่วมกันได้ ยิ่งได้รับการชี้แนะถึงเบื้องหลังตัวละครในวันนั้นจากเหล่าซือของผมด้วยแล้ว ทำให้เกิดความเข้าใจเนื้อหาของละครเรื่องนี้ได้แจ่มชัดขึ้น และกระสันอยากติดตามชมว่าตอนจบผลจะเป็นอย่างไร

ถึงวันนี้แล้วแม้ยอดผู้ป่วยรายใหม่รายวันจะไม่เพิ่มขึ้นฮวบฮาบ แต่จำนวนผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจพุ่งขึ้นราว 50% ภายใน 36 วัน โดยยอดแท้จริงอาจสูงกว่านี้ด้วยซ้ำถ้านับรวมรายที่แพทย์และญาติพิจารณาไม่ใสท่อช่วยหายใจ หรือรายที่ใส่ท่อช่วยหายใจไว้แล้วแต่ยังหาเตียงรับเข้าในไอซียูโควิดไม่ได้ ในท่ามกลางแนวโน้มที่ดูจะมืดมนสำหรับจุดการประเมินกึ่งกลางมาตรการที่ 15 วัน เราจะยอมอดเปรี้ยวไว้กินหวานด้วยการตัดสินใจที่เด็ดขาดกันดีไหม เหมือนการแบ่งช่องว่างในกระเพาะอาหารจากบะหมี่ต้มยำลูกชิ้นปลาแสนอร่อยมื้อกลางวันนี้ เพื่อเหลือที่ให้กับข้าวเหนียวมะม่วงแสนโอชะ 
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลขผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 จากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีจำนวน 67,614 ราย แบ่งเป็นอยู่ในโรงพยาบาล 33,991 ราย และอยู่ในโรงพยาบาลสยนาม 33,623 ราย โดยเป้นผู้ป่วยอาการหนัก 2,496 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 676 ราย