รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
บุคลากรสาธารณสุขที่ฉีดวัคซีนแล้วติดเชื้อน้อยลง 8 เท่า เสียชีวิตน้อยลง 10 เท่า
จากสถานการณ์โควิดระลอกที่สาม ที่ระบาดต่อเนื่องกันมานานกว่าสามเดือนแล้วนั้น บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจำนวนกว่า 700,000 คน ได้ทำหน้าที่ทุ่มเทเสียสละต่อเนื่องกันมาตลอด แม้จะมีการระมัดระวังอย่างเต็มที่ แต่ด้วยภาระงานที่หนักหนา ขาดการพักผ่อนที่เพียงพอ จึงมีสภาพที่อ่อนล้าทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อและเสียชีวิตได้
เมื่อมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 (Covid-19) จึงจัดลำดับการฉีดให้บุคลากรทางสาธารณสุขเป็นลำดับแรก ซึ่งขณะนี้ได้มีการฉีดไปแล้วกว่า 97% ของบุคลากรทั้งหมด
ลองมาดูตัวเลขของการติดเชื้อและการเสียชีวิต เปรียบเทียบกันระหว่างบุคลากรที่ฉีดวัคซีน และไม่ฉีดวัคซีน (เป็นตัวเลขโดยประมาณ)
บุคลากรทางการแพทย์จำนวน 7.21 แสนคน ฉีดวัคซีนแล้ว 97% คิดเป็น 7 แสนคน ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน 3% คิดเป็น 21,000 คน มีผู้ติดเชื้อแล้วทั้งสิ้น 880 คน
แยกเป็น ฉีดวัคซีนแล้วติดเชื้อ 707 คน จากบุคลากร 7 แสนคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว คิดเป็น 101 คนต่อแสน ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน แล้วติดเชื้อ 173 คน จากบุคลากรที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน 21,000 คน คิดเป็น 823 คนต่อแสน ผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน มีการติดเชื้อมากกว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนอยู่ 8 เท่า
ส่วนเรื่องการเสียชีวิต ขณะนี้มีบุคลากรทางสาธารณสุขเสียชีวิตแล้ว 7 คน ฉีดวัคซีนแล้วเสียชีวิต 2 คน คิดจากผู้ติดเชื้อ 707 คน เท่ากับ 0.28% ผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเสียชีวิต 5 คน คิดจากผู้ติดเชื้อ 173 คน เท่ากับ 2.89%
ผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนแล้วเสียชีวิตมีมากกว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว 10 เท่า (คิดการเสียชีวิตต่อจำนวนผู้ติดเชื้อ)
วัคซีนจึงยังมีประโยชน์สำหรับบุคลากรสาธารณสุข ในการลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ และการเสียชีวิตจากโควิด-19
หมายเหตุ : บุคลากรทางสาธารณสุขที่ฉีดวัคซีนแล้ว เกือบทั้งหมดเป็นวัคซีน Sinovac สองเข็ม มีส่วนน้อยที่ฉีดวัคซีน AstraZeneca (แอสตร้าเซนเนก้า) หนึ่งเข็ม
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมข้อมูลการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 10 กรกฎาคม 2564 จากการเปิดเผยของนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค พบว่า มีจำนวน 880 ราย เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เป็นกลุ่มพยาบาล/ผู้ช่วยพยาบาลมากที่สุด 54% กลุ่มอายุที่มากที่สุด คือ ช่วงอายุ 20-29 ปี จากการตรวจสอบข้อมูลการรับวัคซีนพบว่า มีจำนวน 173 คน หรือ 19.7% ที่ไม่มีประวัติฉีดวัคซีน
โดยมีรายงานการเสียชีวิต 7 ราย จำนวนนี้ไม่ได้รับวัคซีนโควิด 5 ราย ได้รับวัคซีน 2 ราย โดยรายแรกรับวัคซีนซิโนแวคเพียงเข็มเดียว เนื่องจากเริ่มป่วยหลังรับวัคซีนเข็มสองเพียงวันเดียว ซึ่งปกติภูมิคุ้มกันจะขึ้นเมื่อฉีดสองเข็มแล้ว 14 วัน ส่วนอีกรายฉีดครบสองเข็มคือพยาบาลรายดังกล่าวที่เสียชีวิต
ผู้ที่รับวัคซีนครบมีโอกาสติดเชื้อและป่วยเสียชีวิตน้อยกว่าผู้ที่ไม่รับวัคซีน เนื่องจากข้อมูลพบว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่รับวัคซีนซิโนแวค 1 เข็ม จำนวน 22,062 ราย มีรายงานป่วย 68 ราย คิดเป็นอัตรา 308 ต่อการฉีดแสนโดส แต่ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย 67 ราย ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ที่รับซิโนแวคครบ 2 เข็ม จำนวน 677,348 ราย มีรายงานป่วย 618 ราย คิดเป็นอัตรา 91 ต่อการฉีดแสนโดส ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย 597 ราย อาการปานกลาง 19 ราย และอาการรุนแรง 1 ราย
สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 โดส จำนวน 66,913 ราย มีรายงานป่วย 45 ราย ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย 43 ราย อาการปานกลาง 1 ราย และอาการรุนแรง 2 ราย