นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าทำศพที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2564 แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ลงนามในกฎกระทรวง โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้มีการปรับเพิ่มอัตราค่าทำศพที่ให้นายจ้างจ่าย จากเดิม 40,000 บาท ปรับเพิ่มเป็น 50,000 บาท มีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป
สำหรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการขอรับเงินค่าทำศพ คือ ลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ซึ่งสูญหาย หมายความว่า การที่ลูกจ้างหายไปในระหว่างการทำงานหรือปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้าง ซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าลูกจ้างถึงแก่ความตาย เพราะประสบเหตุอันตราย ที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำงานหรือปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างนั้น รวมตลอดถึงการที่ลูกจ้างหายไปในระหว่างเดินทาง โดยพาหนะนั้นได้ประสบเหตุอันตรายและลูกจ้างถึงแก่ความตาย ทั้งนี้ เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 120 วัน นับแต่วันที่เกิดเหตุ
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวในตอนท้าย ถึงเหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงอัตราค่าทำศพที่ให้นายจ้างจ่ายเมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพื่อให้ลูกจ้างได้รับความคุ้มครองและได้รับสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งลูกจ้างที่ถึงแก่ความตายหรือสูญหายเนื่องจากการทำงาน ได้รับค่าทำศพ ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง “นายจ้างจ่ายค่าทำศพห้าหมื่นบาท” นั้น หมายถึง เมื่อลูกจ้างเสียชีวิตเนื่องจากการทำงาน กองทุนเงินทดแทน โดยสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายค่าทำศพ ให้กับผู้จัดการศพแทนนายจ้างที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนแล้ว เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 50,000 บาท จากเดิมที่จ่ายเพียง 40,000 บาท และถือว่านายจ้างได้จ่ายเงินค่าทำศพตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา ที่ท่านสะดวก หรือติดต่อสายด่วน โทร.1506 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง