ผลศึกษาฉีดซิโนแวคครบ 2 เข็ม ป้องกันโควิดสายพันธุ์อัลฟา 90% เดลตา 75%

21 ก.ค. 2564 | 05:00 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.ค. 2564 | 12:07 น.

สาธารณสุข เปิดผลศึกษาประสิทธิผลของ วัคซีนซิโนแวค จากสถานการณ์จริงที่ฉีดให้กับประชาชนครบ 2 เข็ม ใน จ.ภูเก็ต-สมุทรสาคร-เชียงราย และกรมควบคุมโรคที่ฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ มีประสิทธิผลดี สามารถป้องกันสายพันธุ์อัลฟาได้ 90% โควิดสายพันธุ์เดลตาได้ 75%

ที่ผ่านมามีการพูดถึงประสิทธิผลของ วัคซีนซิโนแวค ในการป้องกันโรคโควิด-19 ว่าอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับวัคซีนยี่ห้ออื่น ล่าสุด เพจไทยคู่ฟ้า ได้เปิดเผยถึง ผลศึกษา "ซิโนแวค" จาก 4 แหล่งว่า มีประสิทธิผลดี โดยข้อมูลจาก กระทรวงสาธารณสุข ได้เผยรายงานการศึกษาประสิทธิผลวัคซีนซิโนแวค จากสถานการณ์จริงที่ได้นำมาฉีดให้กับคนไทยใน 4 แหล่ง ปรากฎรายละเอียดดังนี้

1.จังหวัดภูเก็ต ได้ติดตามกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ช่วงเดือนเม.ย. - พ.ค. 2564 จำนวนกว่า 1,500 ราย พบการติดเชื้อ เพียง 124 ราย หากเทียบกันระหว่างผู้รับวัคซีนและไม่ได้รับวัคซีน พบว่าประสิทธิผลป้องกันติดเชื้ออยู่ที่ 90.7% 

2.จังหวัดสมุทรสาคร ได้ติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง กว่า 500 ราย ช่วงเดือนเม.ย. 2564 พบติดเชื้อ 116 ราย ประสิทธิผลป้องกันติดเชื้ออยู่ที่ 90.5% 

3.จังหวัดเชียงราย ได้ศึกษากรณีการติดเชื้อในบุคลากรสาธารณสุข ช่วงเดือนมิ.ย. 2564 กว่า 500 ราย พบการติดเชื้อ 40 ราย

นอกจากนี้ ยังได้ติดตามความรุนแรงเรื่องปอดอักเสบ เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลพบว่า  ประสิทธิผลของซิโนแวค 2 เข็มป้องกันการติดเชื้ออยู่ที่ 88.8% และป้องกันปอดอักเสบอยู่ที่ 84.9% 

สำหรับบุคลากรที่ได้รับแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็มครบ 14 วัน ป้องกันการติดเชื้ออยู่ที่ 83.8%

4.กรมควบคุมโรค ได้ใช้ฐานข้อมูลติดตามบุคลากรสาธารณสุขที่ติดเชื้อทั้งประเทศ และข้อมูลการรับวัคซีน ตั้งแต่ 1 พ.ค. - 30 มิ.ย. 2564  พบว่า ประสิทธิผลอยู่ที่ 71% 

โดยช่วงเดือนพ.ค. 2564 ที่พบการระบาดเป็นสายพันธุ์อัลฟา ประสิทธิผลอยู่ที่ 75% และช่วงเดือนมิ.ย. 2564 ที่เริ่มมีการระบาดของสายพันธุ์เดลตาแทนที่อัลฟาประสิทธิผลอยู่ที่ประมาณ 20 - 40%

ดังนั้น หากฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม สามารถป้องกันติดเชื้อ จากสายพันธุ์อัลฟาได้ประมาณร้อยละ 90 และป้องกันปอดอักเสบได้ร้อยละ 85 ส่วนประสิทธิผลต่อสายพันธุ์เดลตาขณะนี้ ถือว่ายังคงที่ คือ ร้อยละ 75 ซึ่งไม่ต่างจากเดิมที่ร้อยละ 71 

สำหรับการฉีดเข็มกระตุ้น และการฉีดสลับประเภทของวัคซีนนั้น จากการศึกษาทางห้องปฏิบัติการ พบว่าจะสามารถเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันให้ได้สูงกว่าเดิมได้รวดเร็วและสูงมากขึ้น