ข่าวดี! วัคซีน Pfizer 1.5 ล้านโดสถึงไทย 30 ก.ค. หมอเฉลิมชัยสรุป 3 สิ่งต้องระวัง

28 ก.ค. 2564 | 02:41 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ค. 2564 | 09:41 น.

หมอเฉลิมชัยเผยข้อมูลวัคซีน Pfizer 1.5 ล้านโดสถึงประเทศไทย 30 กรกฎาคม 64 พร้อมสรุปบทเรียนจากต่างประเทศ 3 สิ่งที่พึงระวัง ชี้ต้องดูเกี่ยวกับเรื่องการเก็บรักษา และการเตรียมฉีดที่ยุ่งยากกว่าวัคซีนเดิม

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า  
ข่าวดี !! วัคซีน Pfizer 1.5 ล้านโดสจะมาถึงประเทศไทย 30 กรกฎาคม 2564
จากการประสานติดต่อจัดหาวัคซีน Pfizer ของประเทศไทย และได้มีการแยกเป็นสองส่วน คือ
1.ได้รับบริจาคจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยการประสานตรงระหว่างกระทรวงต่างประเทศของทั้งสองประเทศ จำนวน 1.5 ล้านโดส
2.จัดซื้อจากบริษัท Pfizer จำนวน 20 ล้านโดส
ขณะนี้วัคซีนส่วนที่ได้รับบริจาคจากรัฐบาลสหรัฐจำนวน 1.5 ล้านโดส ได้รับการยืนยันว่า จะเข้ามาถึงประเทศไทยวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 และจะกระจายไปถึงพื้นที่ในโรงพยาบาลต่างๆ ประมาณวันที่ 5-10 สิงหาคม 2564 โดยจะมีการอบรมเพื่อเตรียมการฉีดทางออนไลน์ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 นี้
วัคซีน Pfizer เป็นเทคโนโลยี mRNA ซึ่งมีความบอบบาง จึงสลายตัวง่าย มีความยุ่งยากที่จะต้องเก็บที่อุณหภูมิเยือกแข็ง โดยเก็บที่อุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียสได้นาน 6 เดือน และอยู่ในอุณหภูมิตู้เย็นธรรมดา 2-8 องศาเซลเซียสได้เพียง 1 เดือน
นับเป็นข่าวดี ที่ประเทศไทยจะได้วัคซีน Pfizer เข้ามาฉีดตามที่หลายฝ่ายเรียกร้อง แต่เนื่องจากเป็นวัคซีนเทคโนโลยีใหม่ ที่ประเทศไทยยังไม่คุ้นชิน รวมทั้งประชาชนทั่วไปยังมีข้อมูลความรู้ความเข้าใจน้อย

จึงอยากจะสรุปบทเรียนของต่างประเทศ ที่เป็นสิ่งพึงระมัดระวังของวัคซีนดังนี้
1.วันหมดอายุ มีกรณีผิดพลาดเกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกามาแล้วว่า ได้ฉีดวัคซีนที่หมดอายุแล้วให้กับคนอเมริกันเกือบ 1000 คน โดยที่วันหมดอายุข้างขวดยังไม่หมดอายุ เพราะเป็นกำหนดสำหรับเก็บ -70 องศาเซลเซียส
เมื่อเอาออกมาเก็บที่อุณหภูมิตู้เย็น  วันหมดอายุจะเหลือเพียงหนึ่งเดือน  จึงต้องระมัดระวังนับวันหมดอายุใหม่ให้ถูกต้อง ไม่ใช่ดูวันหมดอายุเดิมที่อยู่ข้างขวดวัคซีน

วัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสถึงประเทศไทย 30 ก.ค.
2.มีการแพ้ที่พบน้อยมาก แต่มีความรุนแรงมาก ที่เรียกว่าแพ้แบบช็อค (Anaphylaxis) โดยวัคซีนไฟเซอร์พบ 4.7 รายใน 1,000,000 โดส และของ Moderna พบ 2.5 รายต่อ 1,000,000 โดส (เกือบทั้งหมดเป็น ผู้หญิง)
3.พบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) โดยเฉพาะในผู้ชายที่อายุน้อย ของ Pfizer พบ 0.8 รายต่อ 1,000,000 โดส และ Moderna พบ 0.95 ราย ใน 1,000,000 โดส

เมื่อประเทศไทยได้รับวัคซีนมา 1.5 ล้านโดส จึงต้องเฝ้าระวังผลข้างเคียง ดังกล่าว ทั้งกรณีการแพ้แบบช็อก ซึ่งอาจจะพบได้ 6-7 ราย ตามสถิติของสหรัฐอเมริกา และอาจพบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ 1-2 ราย ในภาพรวมก็คงจะได้ติดตามการฉีดวัคซีน Pfizer ที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันขึ้นสูง แต่มีข้อต้องระมัดระวังเกี่ยวกับเรื่องการเก็บรักษา และการเตรียมฉีดที่ยุ่งยากกว่าวัคซีนเดิม
ซึ่งเมื่อมีการอบรมและจัดทำแนวทางที่ต้องปฏิบัติให้ครบถ้วน ก็จะลดความผิดพลาดลงไปได้ ตลอดจนอาจพบผลข้างเคียงเรื่องแพ้แบบช็อค และกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งพบในระดับน้อยถึงน้อยมาก แต่ต้องเตรียมการแก้ไขให้พร้อม ซึ่งถ้าทุกอย่างได้เตรียมพร้อมอย่างครบถ้วน ก็จะแก้ไขผลข้างเคียงดังกล่าวได้
สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19)ในประเทศไทย จากการายงานของศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข วันที่ 28 ก.พ.-26 ก.ค. 64 " ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า มีการฉีดสะสมแล้วจำนวน 16,099,670 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 12,429,925 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 3,669,745 ราย