รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความส่วนหนึ่งระบุว่า ในช่วงนี้คำถามยอดนิยมที่มักต้องเผชิญในยามออกสื่อ (เท่าที่เลี่ยงพ้น) แล้วหนักใจการหาคำตอบ คงไม่พ้นว่าเมื่อไรระลอกสี่จะยุติ บอกตามตรงว่าคาดเดายากมาก เพราะไม่รู้จริงเลยว่าขณะนี้มีคนติดเชื้อทั้งหมดเท่าไร คนที่ยังไม่ได้เข้าระบบการตรวจและระบบการรักษายังแพร่เชื้อไปได้อีกมากน้อยแค่ไหน ได้แต่มองโลกสวยว่ามาตรการล็อคดาวน์แม้จะไม่เข้าตานักแต่ก็ยังพอได้ผล ส่วนประชาชนก็เริ่มตื่นตัวและตื่นกลัวมากขึ้น จนร่วมมือร่วมใจกันพยายามสร้างเครือข่ายเพื่อเร่งหยุดยั้ง แม้จะยังมีผู้ที่กลัวอดมากกว่ากลัวติดใช้ชีวิตที่สุ่มเสี่ยง หวังว่ายอดผู้ป่วยจะค่อยๆ ลดลงช้าๆ จนเหลือหลักซักสองสามพันในอีกหลายสัปดาห์ข้างหน้า เพื่อให้ภาคการแพทย์พอรับมือไหวในแบบยืดเยื้อ ยันข้าศึกไว้จนกว่าการฉีดวัคซีนเข็มแรกจะครอบคลุมได้ถึง 70% ของคนทั้งประเทศ แม้มีคนคาดการณ์ว่าอาจต้องการถึง 85% ก็ตามเพื่อพิชิตเดลตา
อีกคำถามหนึ่งที่มักต้องขอตัวว่าโดยมารยาทไม่อยากออกความเห็นมาก สำหรับการตัดสินใจดำเนินมาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่ครั้งที่หนึ่ง ครั้งที่สอง และอาจต้องมีครั้งที่สาม? ทั้งที่เป็นคนแรกๆ ที่ออกมาเรียกร้องต่อสาธารณะให้มีผู้อำนาจตัดสินใจรีบตัดไฟแต่ต้นลม แต่ในฐานะที่ได้เข้าไปให้ข้อมูลและรับฟังที่ประชุมร่วมกันตัดสินใจทั้งสองครั้ง จึงต้องยอมรับผลการตัดสินใจแม้มันจะไม่ถูกใจ สิ่งหนึ่งที่พอบอกเล่าได้ว่าสงสารคนอยู่หัวโต๊ะ แม้จะเห็นคล้อยตามฝ่ายการแพทย์เป็นส่วนใหญ่ แต่ด้วยการต้องพะวงการควบคุมกลุ่มย่อยในฝ่ายการเมืองที่คอยหนุนหลัง ที่อาจเล็งเห็นผลประโยชน์เฉพาะตนเฉพาะกลุ่มมากกว่าเป้าประสงค์ขององค์กร ทำให้การตัดสินใจเชิงนโยบายใดๆ อาจไม่เป็นดังใจหวังไปเสียทั้งหมด ส่วนตัวแล้วอยากให้มีการล้างไพ่ใหม่ชั่วคราวทำสัญญาสงบศึกกันก่อน ลืมเรื่องเก่าแล้วรวมพลังตะลุยไปกับหมอก่อน เสร็จศึกแล้วจึงค่อยมานั่งตกลงกันเพื่อหาสมดุลใหม่ จะได้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่ที่เจ้าโควิดเขาหยิบยื่นให้
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 1 สิงหาคม 64 "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามการรายงานตัวเลขจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า
มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวม 18,027 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 17,653 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 374 ราย ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 586,451 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 133 ราย หายป่วยเพิ่ม 13,402 ราย กำลังรักษา 205,002 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 377,896 ราย