"หมอนิธิพัฒน์" เปิดข้อควรรู้การใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ด้วยตนเอง

01 ส.ค. 2564 | 02:22 น.

หมอนิธิพัฒน์เผยข้อมูลข้อควรรู้การใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ด้วยตนเอง ชี้มีผลลบลวงได้หากตรวจไวเกินไปภายใน 3 วันหลังได้รับเชื้อหรือสัมผัสเสี่ยงสูง

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความว่า  
แค่เหรียญทองเดียวเมื่อหลายวันก่อน ก็เพียงพอที่ทำให้ประเทศไทยรั้งอันดับที่ 34 ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ผิดกับในอีกกระดานหนึ่งแค่ตัวเลขสลับกัน ประเทศไทยไต่อันดับรวดเร็วมาก จนเข้าสู่อันดับทื่ 43 ของบรรดาประเทศที่ถูกโควิดเล่นงานจนโงหัวไม่ขึ้น และดูท่าอันดับจะเลื่อนขึ้นไปต่อได้ไม่ยากถ้าอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยรายใหม่แตะหลักสองหมื่นหรือมากกว่า ต้องลุ้นว่านักกีฬาไทยอีกสามคนจากมวยสมัครเล่นที่ทะลุถึงรอบชิงเหรียญทองแดงแล้ว จะนำความสุขมาสู่คนไทยเพิ่มขึ้นอีกได้หรือไม่ ถ้าได้จริงแล้ว โอกาสที่อันดับโอลิมปิกจะทิ้งห่างอันดับโควิด ก็ยังคงมีความเป็นไปได้
ไม่ต่างกับการเบียดแทรกตัวเพื่อเข้าสู่การรับเหรียญ วันนี้พอทีมโควิดวิกฤตเราเริ่มเคลียร์เตียงได้หนึ่งเตียง ทันใดนั้นก็มีการเสนอผู้ป่วยเข้ามาขอให้พิจารณาพร้อมกันทีเดียวสามราย ไม่นับผู้ป่วยต่างโรงพยาบาลที่เสนอขอย้ายมาอีกหลายคิว ซึ่งขอผลัดเขามาเรื่อยในตลอดทั้งสัปดาห์นี้ สร้างความหนักใจให้กับทีมในการตัดสินใจเลือกสรร เราพิจารณาจากต้นทุนสุขภาพเดิมประกอบกับระดับความรุนแรงของการโจมตีโดยโควิดในครั้งนี้ แน่นอนย่อมมีผู้ที่ไม่ได้ไปต่อกับทีมเรา แต่เขาก็ยังได้รับการดูแลนอกไอซียูตามมาตรฐานของโรงพยาบาล หากยืดเยื้อเช่นนี้ไปเรื่อยๆ นอกจากกำลังกายของบุคลากรจะถดถอยแล้ว ความหดหู่ที่เกาะกุมจิตใจก็จะพอกหนาจนอาจเกิดความท้อแท้หมดไฟ ทั้งหมดนี้ท่านผู้มีอำนาจยังช่วยกันได้ ด้วยการดำเนินการมาตรการควบคุมโรคเข้มข้นสูงสุด ให้สมกับที่ท่านเรียกว่าพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
ผลจากการที่โควิดแตกกระสานซ่านเซ็นไปในหลายท้องที่หลายชุมชนและหลายองค์กร ช่วงนี้เวลาว่างจากงานดูแลผู้ป่วยจึงต้องรับปรึกษา ทั้งจากเทือกเถาเหล่ากอ จากเพื่อนพ้องน้องพี่ และ จากอื่นๆ อีกมากมาย คำถามยอดฮิตหนึ่งในขณะนี้ คือ ช่วยแนะนำเรื่องการตรวจแอนติเจนด้วยตัวเองให้หน่อย จึงขอส่งผ่านความรู้เท่าที่มีมาสู่กันฟัง ผิดพลั้งประการใดโปรดชี้แนะข้าน้อยด้วย

การตรวจแอนติเจนมีประโยชน์มากในการวินิจฉัยโรคในช่วงที่ความชุกของโรคสูงเช่นขณะนี้ และมีประโยชน์มากในคนที่มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งในข่ายสงสัยโควิด (ไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลว จมูกไม่รับกลิ่น ลิ้นไม่รับรส) 
มีผลลบลวงได้จากการตรวจเร็วเกินไป คือภายใน 3 วันหลังรับเชื้อหรือสัมผัสเสี่ยงสูง หรือตรวจช้าไปในช่วงท้ายคือ 10-14 วัน
มีผลลบลวงถ้าเก็บสิ่งส่งตรวจไม่ดี เช่น แยงจมูกไม่ลึกพอ หมุนรอบไม้แยงไม่มากพอ กรณีตรวจจากน้ำลายอาจมีผลลบลวงง่ายกว่าการแยงจมูก
ไม่แนะนำให้ตรวจถ้าไม่มีอาการและไม่มีความเสี่ยง
 ถ้ามีอาการ ตรวจผลเป็นบวก ให้รีบหาโรงพยาบาลหรือหน่วยงานคู่สัญญา เพื่อคัดกรองเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาภายในหรือภายนอกโรงพยาบาล ปัจจุบันสามารถเข้าถึงยาฟาวิพิราเวียร์ได้แม้เป็นการรักษานอกโรงพยาบาล อีกทั้งถ้ารักษาตัวนอกโรงพยาบาล คู่สัญญาเราจะช่วยติดตามดูแลจนปลอดภัย และช่วยประสานงานถ้าอาการแย่ลงและจะต้องเข้าโรงพยาบาล

Rapid Antigen Test
ถ้ามีอาการ ตรวจผลเป็นลบ อย่านิ่งนอนใจ รีบติดต่อหาที่เพื่อเข้าตรวจยืนยันด้วยวิธีพีซีอาร์
ถ้าไม่มีอาการ แต่มีประวัติเสี่ยง ตรวจผลเป็นบวก ให้รีบหาโรงพยาบาลหรือหน่วยงานคู่สัญญา ถ้าไม่ได้ให้รีบหาทางทำ home isolation อย่างถูกวิธี
ถ้าไม่มีอาการ แต่มีประวัติเสี่ยง ตรวจผลเป็นลบ อย่านิ่งนอนใจ ให้แยกตัวสังเกตอาการที่บ้าน (home quarantine) จนครบ 14 วัน ถ้ายังสงสัยมากให้ตรวจซ้ำประมาณ 5 วันหลังตรวจครั้งแรก
ถ้าผลตรวจเป็นบวก แต่ไม่ได้เข้าโรงพยาบาล และไม่มีผลการตรวจพีซีอาร์รับรอง อาจมีปัญหาการยืนยันตัวตนในผลการตรวจสำหรับการเรียกร้องด้านประกันภัย และการประเมินความพร้อมก่อนกลับเข้าปฏิบัติงานในบางหน่วยงาน

ถ้าผลตรวจเป็นบวก ไม่แนะนำให้ตรวจซ้ำเมื่อเวลาผ่านไป ด้วยเหตุผลว่าอยากรู้ว่าหายหรือยัง เพราะการตรวจหลังรับเชื้อไปนานจะมีผลลบลวงมากขึ้น ถ้าตรวจแล้วเป็นลบอาจสำคัญผิดและไม่ควบคุมตัวเองจนอาจเกิดการแพร่เชื้อให้คนรอบข้างได้
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 1 สิงหาคม 64 "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามการรายงานตัวเลขจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า
มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวม 18,027 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 17,653 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 374 ราย  ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 586,451 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 133 ราย หายป่วยเพิ่ม 13,402 ราย กำลังรักษา 205,002 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 377,896 ราย