รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
สมเหตุสมผลหรือไม่ สำหรับการคงมาตรการล็อกดาวน์ในระดับเข้มงวด(Strict Lockdown) ต่อไปอีก 14 วัน และขยายเขตสีแดงเข้มเพิ่มขึ้นเป็น 29 จังหวัด
สถานการณ์โควิดระบาดระลอกที่สามของไทย ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564
ได้เดินทางมาครบสี่เดือนเต็ม และกำลังเริ่มต้นเดือนที่ห้าในวันนี้คือ 1 สิงหาคม 2564
ศบค.ชุดใหญ่ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้ประชุมวาระพิเศษในบ่ายวันนี้
และมีมติให้คงระดับการล็อกดาวน์ในระดับที่ 3 คือเข้มงวด (Strict Lockdown) ต่อไปอีก 14 วัน และเพิ่มพื้นที่เขตสีแดงเข้มจาก 13 จังหวัดเป็น 29 จังหวัด
คงต้องพิจารณาหลากหลายปัจจัย หลากหลายมิติ เพื่อประกอบการออกมาตรการล็อกดาวน์ในระดับความเข้มข้นที่แตกต่างกัน
หนึ่งในปัจจัยที่มีความสำคัญ และมีน้ำหนักมาก ก็คือสถิติตัวเลขต่างๆหลายตัวด้วยกัน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาถึงความสมเหตุสมผลของมติดังกล่าว
ไม่ว่าจะเป็น
1.จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่
2.จำนวนผู้เสียชีวิต
3.จำนวนผู้รักษาตัวในโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสนาม
4.จำนวนผู้ป่วยอาการหนัก
5.จำนวนผู้ที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ
ลองมาพิจารณาโดยการวิเคราะห์เปรียบเทียบดังนี้
1.เปรียบเทียบสถานการณ์เดือนต่อเดือน เรียงกันไปสี่เดือนติดต่อกัน
เดือนแรก : เทียบระหว่าง
1 เมษายน กับ 1 พฤษภาคม
พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 38,155 ราย
จาก 28,889 เป็น 67,044 ราย
เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 130 ราย
จาก 94 ราย เป็น 224 ราย
เดือนที่สอง : เทียบระหว่าง
1 พฤษภาคม กับ 1 มิถุนายน
ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 94,978 ราย
จาก 67,044 ราย เป็น 162,022 ราย
เสียชีวิตเพิ่ม 845 ราย
จาก 224 ราย เป็น 1069 ราย
เดือนที่สาม : เทียบระหว่าง
1 มิถุนายน กับ 1 กรกฎาคม
ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 102,812 ราย
จาก 162,022 เป็น 264,834 ราย
เสียชีวิตเพิ่ม 1011 ราย
จาก 1069 ราย เป็น 2080 ราย
เดือนที่สี่ เดือนสุดท้าย เทียบระหว่าง 1 กรกฎาคม กับ 1 สิงหาคม
ผู้ติดเชื้อเพิ่ม 350,480 ราย
จาก 264,834 เป็น 615,314 ราย
เสียชีวิตเพิ่ม 2910 ราย
จาก 2080 ราย เป็น 4990 ราย
สถิติเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกเดือน ตลอดสี่เดือนที่ผ่านมา
2.เปรียบเทียบหลังจากติดเชื้อไปแล้วหนึ่งเดือน จนถึงปัจจุบัน ระหว่าง 1 พฤษภาคม จนถึง 1 สิงหาคม พบว่า
ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 9.18 เท่า
เข้ารับการรักษาตัวเพิ่มขึ้น 7.13 เท่า
รักษาตัวใน รพ.หลักเพิ่ม 3.58 เท่า
รักษาตัวใน รพ.สนามเพิ่ม 16.42 เท่า
ผู้ป่วยอาการหนักเพิ่ม 5.75 เท่า
ผู้ใช้เครื่องช่วยหายใจเพิ่ม 3.87 เท่า
3.ระดับการล็อกดาวน์แบ่งได้เป็น
3.1 ระดับเล็กน้อย (Partially lockdown)
3.2 ระดับปานกลาง (Semi-lockdown)
3.3 ระดับค่อนข้างมาก (Strict lockdown)
3.4 ระดับสูงสุด (Fully lockdown)
โดยการล็อกดาวน์ของประเทศไทยนั้น
ระดับเล็กน้อย เริ่มเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564
ระดับปานกลางเริ่ม 12 กรกฎาคม 2564
ระดับค่อนข้างมากเริ่ม 20 กรกฎาคม 2564
ยังไม่ได้มีการประกาศใช้ล็อกดาวน์ระดับสูงสุด ในการระบาดระลอกที่สามนี้
ลองมาดูผลของการล็อกดาวน์ระดับต่างๆ ว่าเมื่อครบ 14 วันแล้ว มีผลเป็นอย่างไรบ้าง
1.ล็อกดาวน์ระดับ 1 หรือเล็กน้อย
ได้ประกาศใช้เมื่อ 28 มิถุนายน 2564
ประเมินผล 12 กรกฎาคม 2564
พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 95,174 ราย
ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 857 ราย
2.ล็อกดาวน์ระดับ 2 หรือปานกลาง
ประกาศใช้เมื่อ 12 กรกฎาคม 2564
ประเมินผล 26 กรกฎาคม 2564
มีติดเชื้อเพิ่ม 167,349 ราย
เสียชีวิตเพิ่ม 1355 ราย
3.ล็อกดาวน์ระดับ 3 หรือเข้มงวด
ประกาศใช้ 20 กรกฎาคม 2564
ประเมินผล 1 สิงหาคม 2564
มีติดเชื้อเพิ่ม 188,839 ราย
เสียชีวิตเพิ่ม 1488 ราย
จากสถิติดังกล่าวทั้งหมด จะเห็นได้ว่า การประกาศล็อกดาวน์ในระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับที่หนึ่งเล็กน้อย มาสู่ระดับที่สองปานกลาง และระดับที่สามเข้มงวด ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
ยังไม่สามารถจะคุมจำนวนผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตเอาไว้ได้ อย่างเป็นที่น่าพอใจ แม้จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลจะเริ่มลดลงบ้างแล้วก็ตาม
หากแต่ไปเพิ่มมากขึ้นในต่างจังหวัด ทำให้ค่าเฉลี่ยของประเทศยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง
การใช้มาตรการล็อกดาวน์ในระดับที่สาม หรือค่อนข้างมากในปัจจุบัน จึงมีความหวังไม่สูงนัก ที่จะควบคุมการระบาดเอาไว้ได้
นอกจากจะสามารถเร่งระดมฉีดวัคซีนได้อย่างรวดเร็วภายในหนึ่งเดือน ซึ่งก็เป็นไปได้ยากมาก
ถ้าการเร่งระดมฉีดวัคซีน ต้องใช้เวลาอีกมากกว่า 3 เดือน
ในช่วงระหว่าง 3 เดือนนี้ การยกระดับการล็อกดาวน์จากระดับที่สามคือค่อนข้างมาก ไปเป็นระดับที่สี่คือระดับสูงสุด เฉพาะในเขตพื้นที่สีแดงเข้ม อาจมีความจำเป็น เพื่อชลอหรือทำให้จำนวนผู้ป่วยลดลงมาสู่ระดับที่ระบบสุขภาพ จะสามารถดูแลผู้ที่ไม่สมควรจะเสียชีวิต ไม่ให้ต้องเสียชีวิตได้สำเร็จ เพราะผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว เราไม่สามารถจะนำกลับคืนมาได้ เมื่อโรคระบาดผ่านไปแล้ว แต่ระบบเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก จะสามารถกลับมาฟื้นฟูกันได้อีก เมื่อโรคระบาดผ่านไปแล้ว
การล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ (Fully Lockdown) เฉพาะในเขตพื้นที่สีแดงเข้มในขณะนี้ แม้จะไม่สามารถทำให้การระบาดยุติลงได้ (เนื่องจากเลยเวลาที่เหมาะสมไปแล้ว) แต่ทำไปเพื่อเป็นการรอผลของวัคซีนที่จะเห็นผลในอีก 3-5 เดือนข้างหน้า
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย วันที่ 2 กรกฎาคม 64 "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามการายงานจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า
มียอดผู้ติดเพิ่มขึ้นรวม 17,970 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 17,795 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 175 ราย ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 604,421 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 178 ราย หายป่วยเพิ่ม 13,919 ราย กำลังรักษา 208,875 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 391,875 ราย