รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
วัคซีน Sinopharm สามารถฉีดในเด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไปได้แล้ว ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นับเป็นประเทศแรกนอกประเทศจีน
ประชากรวัยเด็ก ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา จัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการติดโควิดสูงสุดในขณะนี้ เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนที่อนุมัติให้ฉีดได้อย่างเป็นทางการ ยกเว้น Pfizer ซึ่งฉีดได้ตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป และมีบางประเทศ ที่อนุมัติให้ฉีดอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปได้ เช่น สหรัฐฯ แคนาดา สิงคโปร์ ฮ่องกง และจีน เป็นต้น แต่ในการฉีดเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปีลงมา ยังไม่มีการอนุมัติเป็นที่แพร่หลาย
สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประเทศแรกที่อนุมัติให้ฉีดในสถานการณ์ฉุกเฉิน (EUA) สำหรับเด็กอายุตั้งแต่สามขวบขึ้นไปได้ เป็นวัคซีนของ Sinovac เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 จากการทดลองเฟส1/2 ของเด็กจำนวน 552 คน ในช่วงตุลาคมถึงธันวาคม 2563 ที่มณฑลหูเป่ย ได้ผลดีทั้งเรื่องความปลอดภัยและประสิทธิผลของวัคซีน
ต่อมา Sinopharm ก็เป็นวัคซีนลำดับที่สอง ที่ได้รับการอนุมัติให้จดทะเบียนฉีดในสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศจีน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 และในเดือนสิงหาคม 2564 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก็ได้อนุมัติให้สามารถฉีดวัคซีน Sinopharm ในเด็กตั้งแต่อายุ 3 ขวบขึ้นไปจนถึง 17 ปีได้ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน
หลังจากที่การศึกษาในโครงการ Bridge ซึ่งรวมเด็ก 900 คน อายุช่วง 3-17 ปี ซึ่งพ่อแม่ยินยอมให้เข้ามาเป็นอาสาสมัครได้ เริ่มทำการทดลองในเดือนมิถุนายน 2564 นับเป็นโครงการแรกในประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาตอนเหนือ โดยกลุ่มของพ่อแม่ผู้ปกครองและเด็กจำนวนดังกล่าว ได้รับการยกย่องว่าเป็นฮีโร่ของประเทศ เพราะจะเป็นการนำร่องให้สามารถฉีดวัคซีนเพื่อต่อสู้กับไวรัสกลายพันธุ์ได้ และทำให้เป้าหมายของการที่จะนำนักเรียนกลับสู่โรงเรียนในเดือนกันยายน 2564 เป็นจริงได้
โดยแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ของ UAE ได้กล่าวว่า การเริ่มต้นทดลองโดยการฉีดวัคซีน Sinopharm ให้เด็กนั้น มีฐานความคิดจากวัคซีนของ Sinopharm เป็นเทคโนโลยีเชื้อตาย ซึ่งเด็กทั่วโลกได้รับวัคซีนเทคโนโลยีเชื้อตายในการรักษาโรคอื่นๆมาเป็นจำนวนหลายชนิดแล้ว มีความปลอดภัยดี และให้ประสิทธิผลดี
จึงเริ่มการทดลองฉีดวัคซีน Sinopharm ป้องกันโควิดกับเด็กเหล่านี้ และในที่สุด ผลก็ออกมาเรียบร้อยดี คงเป็นเรื่องที่น่าติดตามสำหรับประเทศไทยต่อไปว่า เมื่อฉีดเป็นจำนวนมากแล้ว เด็กอายุ 3-17 ปีของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะมีผลเป็นอย่างไร
สำหรับสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลการรายงานของศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีการฉีดตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-4 ส.ค. 64 สะสมจำนวน 18,961,703 โดส แบ่งเป็นผู้ที่ฉีดเข็มที่ 1 แล้วจำนวน 14,783,001 ราย และผู้ที่ฉีดครบ 2 เข็มจำนวน 4,178,702 ราย