การ์ดอย่าตก รัฐต้องเร่งฉีดวัคซีนประชาชนให้ได้มากที่สุด ระบุ ถ้าหยุดเดลต้าทั่วโลกไม่ได้ หากกลายพันธุ์ต่อ อาจน่ากลัวกว่าเดิม
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปรยว่า ไม่อยากจะพูดว่าสายพันธุ์เดลต้า (Delta) เป็นสายพันธุ์ล้างโลก หากแต่สถานการณ์ขณะนี้ เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ได้กระจายไปแล้ว 132 ประเทศทั่วโลก ภายใน 1 สัปดาห์ มีผู้ติดเชื้อใหม่แล้วเกือบ 4 ล้านคน หลายประเทศต้องย้อนกลับไปใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดใหม่ ในขณะที่อิสราเอล ซึ่งนับเป็นประเทศที่ฉีดวัคซีนมากที่สุด และมีประกาศให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตแบบอิสระได้ ต้องกลับมาใช้ชีวิตแบบควบคุมความเสี่ยงอีกครั้ง
จากการอัปเดตสถานการณ์การรับมือกับสายพันธุ์ เดลต้า (Delta) จากทั่วโลก สหประชาชาติได้ออกมาบอกว่า สิ่งที่คาดการณ์ไว้ มันไม่ทันกับการแพร่ระบาดของไวรัสกลายพันธุ์เดลต้า ซึ่งมีการแพร่กระจายรวดเร็ว และรุนแรงกว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อนหน้านี้ โดยดูได้จากบางประเทศ เช่น อัฟริกา ที่เวลาต่างกันแค่ 1 เดือน มีผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 80% อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาด ของสายพันธุ์เดลต้า พบว่า ผู้ติดเชื้อใหม่ เป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเลยถึง 70%
ขณะที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำหน้าที่ติดตามโรคระบาดต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา ได้ออกแนวทางปฏิบัติล่าสุด เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 แก้ไขแนวคิดเดิม ที่ให้คนอเมริกันกลับมาใช้ชีวิตปกติ ไม่ต้องใส่หน้ากากอามัย กลับมาใส่หน้ากากอนามัยอีกครั้ง พร้อมด้วยมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ไม่ว่าจะเป็นการเร่งฉีดวัคซีนให้มากขึ้น จากเดิมที่มีประชากรฉีดครบโดสไปแล้วราว 50% (ไฟเซอร์ และแอสต้าเซเนก้า) โดยมีทั้งมาตรการบังคับ เช่น เข้าสถานที่บางแห่ง หากไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย และฉีดวัคซีน จะไม่ได้รับอนุญาติให้เขา และยังมีมาตรการกระตุ้น เช่น การแจกเงิน 100 ดอลล่าร์สหรัฐ สำหรับผู้ที่ยอมฉีดวัคซีน โดยขณะนี้ สหรัฐมีการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้าแล้วถึง 80%
ข้อมูลล่าสุด วันที่ 8 สิงหาคม 2564 การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้เกิดคลื่นใหม่อีกหนึ่งคลื่น หลังฉีดวัคซีน ทั้งๆ ที่ตอนแรกของหลายๆ ประเทศที่ได้รับวัคซีน ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่และผู้เสียชีวิตลดลง แต่ตอนนี้เริ่มกลับมาอีกครั้ง ด้วยอัตรการติดเชื้อ 5-7 แสนคนต่อวัน ใกล้กับตัวเลขตอนเริ่มมีวัคซีน ส่วนอัตรการเสียชีวิตก็เพิ่มขึ้น แต่ยังไม่เท่าตอนเริ่มฉีดวัคซีน
สำหรับสิ่งที่ไม่เป็นไปตามคาด อย่างที่สหประชาติได้กล่าวถึงนั้น ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ อธิบายว่า ขณะนี้ ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 4,400 ล้านโดส โดยระยะแรกที่บริษัทต่างๆ เริ่มคิดค้นวัคซีนได้ มีการตั้งเป้าว่าปลายปีนี้ จะมีวัคซีนเพียงพอต่อการฉีดให้ประชากรทั่วโลก หากแต่ปัจจุบัน กำลังการผลิตจริงไม่เป็นไปตามเป้า นอกจากนี้ ยังเกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดประเด็นการฉีดวัคซีนเข็ม 3 เพิ่ม เนื่องจากประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง เมื่อใช้กับไวรัสกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้น แม้องค์การอนามัยโลก (WHO) จะยังไม่แนะนำเข็ม 3 เพราะอยากให้ประชากรทั่วโลกได้รับวัคซีนเพียงพอ เพื่อทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ทั่วโลก แต่ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของแต่ละประเทศ
ที่น่าเป็นห่วงมากไปกว่านั้น คือ ไวรัสเหล่านี้หากมีการแพร่ระบาดต่อเนื่องมากๆ จะสามารถทำให้เกิดการกลายพันธุ์ได้ และหากโชคร้าย ไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่มีการแพร่กระจายที่รวดเร็วมากขึ้น และทำให้เกิดอาการรุนแรงมากขึ้น ซึ่งวัคซีนที่มีอยู่ก็อาจจะควบคุมประสิทธิภาพได้ลดลง แม้จะมีการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ก็อาจไม่เพียงพอ
เพราะฉะนั้น การป้องกันการแพร่ระบาด และการเร่งฉีดวัคซีนในประชากรให้มีปริมาณมากพอ เพื่อทำให้เกิดภูมิคุมกันหมู่ (Herd immunity) เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อหยุดการกระจายพันธุ์ให้มากที่สุด ขณะเดียวกัน รัฐก็ต้องออกมาตรการ ควบคุมอย่างเข้มข้น และรวดเร็วต่อสถานการณ์ การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งรอด หรือที่ใดที่หนึ่งรอด ไม่สามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ได้ ทุกพื้นที่ ทุกประเทศทั่วโลกต้องรอดไปด้วยกัน มนุษย์โลกถึงจะรอดจากไวรัสร้ายชนิดนี้ไปได้