รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
วัคซีนโปรตีนซับยูนิต (Protein subunit) ชนิดแรกของไทย จะเริ่มทดลองในมนุษย์เฟสหนึ่ง ต้นเดือนกันยายน 2564
จากสถานการณ์การขาดแคลนวัคซีนโควิดอย่างหนักทั่วโลก เนื่องจากเป็นโรคใหม่ วัคซีนใหม่ การวิจัยพัฒนา จึงทำได้ค่อนข้างช้า แต่มีความต้องการที่จะฉีดให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในประชากรมากถึง 5250 ล้านคน หรือ 10,500 ล้านเข็ม เพื่อให้ครอบคลุม 70% ของประชากรโลกจำนวน 7,500 ล้านคน หลังจากที่โรคระบาดมากว่าหนึ่งปีครึ่ง และได้ดำเนินการวิจัยพัฒนามาหนึ่งปีเศษแล้วนั้น
เพิ่งฉีดวัคซีนไปได้ทั้งสิ้น 4,566 ล้านเข็ม คิดเป็น 43% ของจำนวนวัคซีนที่ต้องฉีด ยังห่างไกลจากความเป็นจริงในเรื่องการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่มากทีเดียว มีหลายปัจจัย หลายสาเหตุ ที่ทำให้วัคซีนกระจายไม่ทั่วถึงและล่าช้า เช่น ผลิตได้ยาก ได้ปริมาณน้อย การเก็บรักษาลำบาก การขนส่งกระจายวัคซีนทำได้ไม่สะดวก และยังมีราคาแพง ทำให้ประเทศรายได้ปานกลางและประเทศยากจน อยู่ในชะตากรรมร่วมกัน ที่จะหาวัคซีนฉีดไม่ได้ เพราะวัคซีนส่วนใหญ่ จะไปอยู่ในมือของประเทศที่ร่ำรวยและมีเทคโนโลยีค่อนข้างสูง
ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนสูง จึงต้องขวนขวายวิจัยพัฒนาวัคซีนของตนเองขึ้นมา นอกจากจะต้องพยายามจัดหาซื้อวัคซีนจากต่างประเทศแล้ว
ในขณะนี้ รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณวิจัยกว่า 1000 ล้านบาท ให้กว่า 10 โครงการวิจัยวัคซีนของประเทศไทย แต่มีกลุ่มที่ก้าวหน้าค่อนข้างมากได้แก่
1.วัคซีนเทคโนโลยีเชื้อตาย ขององค์การเภสัชกรรม จบการทดลองในเฟสหนึ่งของมนุษย์แล้ว
2.วัคซีนเทคโนโลยี mRNA ของคณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ กำลังจะจบการทดลองเฟสหนึ่งเช่นกัน
3.วัคซีนเทคโนโลยีใช้โปรตีนเป็นฐานหรือโปรตีนซับยูนิต ของบริษัทสตาร์ทอัพใบยาไฟโตฟาร์มของคณะเภสัชศาสตร์จุฬาฯ กำลังจะเริ่มทดลองเฟสหนึ่ง
4.วัคซีนเทคโนโลยี DNA ของภาคเอกชน
วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับวัคซีนที่ใช้โปรตีนเป็นฐาน (Protein-based) ชนิดแรกของประเทศไทย ในการป้องกันโควิดกัน
1.ผู้ดำเนินการ : บริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม เป็นสตาร์ทอัพของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีอาจารย์คณะเภสัชจุฬาฯสองท่านเป็นผู้เริ่มก่อตั้ง
2.เทคโนโลยีที่ใช้ : โปรตีนเป็นฐานหรือโปรตีนซับยูนิต
3.บริษัทต่างประเทศ : ที่ใช้เทคโนโลยีแบบโปรตีนเป็นฐาน เช่น
Novavax ของสหรัฐเมริกา
ประสิทธิผล 89.7%
Abdala ของคิวบา
ประสิทธิผล 92.28%
และยังมีของรัสเซีย จีน แคนาดา
4.งบประมาณ : วัคซีนของใบยาฯได้รับการสนับสนุนงบประมาณเบื้องต้น 160 ล้านบาทจากรัฐบาล ให้ทำการพัฒนาโรงงานต้นแบบขนาด 1200 ตารางเมตร ซึ่งได้ดำเนินการมา ใช้เวลาแปดเดือน จนผ่านมาตรฐานการรับรองของอย.ในการที่จะผลิตวัคซีนต่อไป
5.การทดลองในสัตว์ : ในหนูและลิงเริ่มศึกษาวิจัยมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 พบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี มีความปลอดภัย ผลข้างเคียงน้อย
6.การทดลองในมนุษย์ : จะเริ่มทดลองเฟสหนึ่งในมนุษย์ต้นเดือนกันยายน 2564 โดยมีอาสาสมัคร 100 คน ทดลองวัคซีนสามขนาดคือ 15 , 50 และ 100 ไมโครกรัม
7. ขั้นตอนในการพัฒนา : วัคซีนจะเริ่มตั้งแต่
7.1 เพาะเลี้ยงแบคทีเรีย
7.2 นำสารพันธุกรรมไวรัสใส่เข้าไปในแบคทีเรีย
7.3 ปลูกถ่ายลงในใบยาสูบ
7.4 เพาะปลูกและขยายพันธุ์ใบยาสูบ
7.5 เก็บเกี่ยวใบยาสูบ
7.6 สกัดนำโปรตีนออกมา ส่งไปทำให้บริสุทธิ์
7.7 กลับมาผสมบรรจุเป็นวัคซีนที่สถานเสาวภา
8.กำลังการผลิต : ถ้าการวิจัยพัฒนาสำเร็จด้วยดี จะสามารถนำมาฉีดให้กับคนไทยได้ในไตรมาสสามของปี 2565 มีกำลังการผลิต 12-60 ล้านเข็มต่อปี
9.จุดเด่น : วัคซีนของไทย ขณะนี้ได้เพาะเลี้ยงไว้ 10 สายพันธุ์ของไวรัส นำมาปรับเปลี่ยนสายพันธุ์ได้ตลอด และอาจใส่หลายสายพันธุ์ลงไปในวัคซีนเข็มเดียวกัน เช่นเดียวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่
จึงนับเป็นข่าวดี ที่น่าจะให้กำลังใจกับบริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม ที่กำลังทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำ เพื่อพัฒนาวัคซีนให้คนไทยเราได้ใช้เอง ร่วมไปกับวัคซีนเชื้อตายขององค์การเภสัชกรรม วัคซีน mRNA ของคณะแพทยศาสตร์จุฬา และวัคซีน DNA ของภาคเอกชน
สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19)ในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลการายงานจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตี้งแต่วันที่ 18 ก.พ.-13 ส.ค. 64 พบว่า มีการฉีดสะสมแล้ว 23,192,491 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 17,696,114 ราย ฉีดครบ 2 เข็มจำนวน 5,033,568 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 464,809 ราย