ศาสตราจารย์ ดร.ศิริพร จึงสุทธิวงษ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เผยว่า ในภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในปัจจุบัน ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในชุมชนและระดับประเทศอย่างมาก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลฯ ในฐานะหน่วยงานที่มีบุคลากรและคณาจารย์ที่มีศักยภาพด้านความรู้ ความสามารถหลากหลายกำลังเร่งขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ชุมชนหรือท้องถิ่นเพื่อเป็นการยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของคนในชุมชนให้เข้มแข็งขึ้นในภาวะวิกฤติโควิด-19 ในปัจจุบัน
ทั้งนี้แต่ละโครงการจะเน้นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ เพิ่มรายได้ให้กับชุมชนซึ่งนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีและความยั่งยืนของคนในชุมชน ควบคู่กับการเร่งปรับปรุง พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ทันสมัยสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจ เป็นคณะวิทยาศาสตร์ที่มีความเป็นเลิศด้านวิชาการ วิจัย และนวัตกรรม
ที่ผ่านมาคณะวิทยาศาสตร์มีผลงานวิจัย นวัตกรรม และทรัพย์สินทางปัญญา ที่ได้รับการส่งเสริมการขายผลงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์จำนวนมากมายเพื่อเตรียมออกสู่ตลาด สู่ชุมชน เช่น 1) ชุดตรวจแมกนีเซียมในน้ำยางพารา 2) ที่ครอบสวิตช์ไฟเรืองแสงจากยางพารา 3) การใช้สมุนไพรไทยควบคู่กับถ่านขาวในยาฆ่าเชื้ออาหารเป็นพิษ และ 4) การเพิ่มปริมาณแกมมาอะมิโนบิวทิริกและสารประกอบฟีนอลิกในข้าวกล้องงอกด้วยกระบวนการทางชีวภาพ เป็นต้น
“คณะวิทยาศาสตร์เรามุ่งเน้นผลงานวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาและพัฒนาร่วมกับชุมชน เพื่อเพิ่มรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในภาวะวิกฤติโควิด-19 เราจึงสร้างผลงานวิจัยที่นำไปใช้ได้จริง และให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนคณะวิทยาศาสตร์ ให้เป็นที่พึ่งของชุมชนทั้งในภาวะวิกฤติและภาวะปกติ” ศ.ดร.ศิริพร กล่าว และว่า
ปัจจุบัน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลฯ มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนคณะสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ วิจัยและนวัตกรรม การผลิตบัณฑิตที่มีสมรรถนะสูง และการบริการวิชาการเพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชน ที่สำคัญปัจจุบันมหาวิทยาลัยอุบลฯ ยังได้รับการยอมรับให้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความโดดเด่นด้านเคมีอันดับ 1 ของประเทศไทย และอันดับ 7 ด้านภาพรวมด้านการวิจัย นวัตกรรมและบทบาททางสังคมอีกด้วย โดยเป้าหมายหลักของคณะวิทยาศาสตร์คือนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่นำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภูมิภาคลุ่มน้ำโขงสู่ความมั่นคงและยั่งยืน