วัคซีนในฝัน สิงคโปร์พบทางพัฒนาวัคซีนพิเศษกันไวรัสโคโรนาได้ 10 สายพันธุ์

22 ส.ค. 2564 | 12:49 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ส.ค. 2564 | 19:48 น.

หมอเฉลิมชัยเผยข้อมูลสิงคโปร์พบข้อมูลสำคัญทางวิทยาศาสตร์ ที่อาจพัฒนาเป็นวัคซีนชนิดพิเศษที่สามารถป้องกันไวรัสโคโรนาได้นับ 10 สายพันธุ์ รวม อัลฟา เบต้า และเดลตา

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า  
วัคซีนในฝัน สิงคโปร์พบข้อมูลสำคัญทางวิทยาศาสตร์ ที่อาจพัฒนาเป็นวัคซีนชนิดพิเศษที่สามารถป้องกันไวรัสโคโรนาได้นับ 10 สายพันธุ์
ความรู้เรื่องโรคระบาดโควิด-19  ( COVID-19 ) และไวรัสก่อโรคกลุ่มโคโรนา ( CORONA VIRUS ) นำมาซึ่งการวิจัยพัฒนาวัคซีนหลากหลายเทคโนโลยี หลากหลายบริษัท ที่นำมาใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินในขณะนี้แล้วนั้น
มีปัญหาสำคัญประการหนึ่ง ที่วงการวัคซีน มีความกังวลกันมากคือ ไวรัส โคโรนาซึ่งเป็นสารพันธุกรรมเดี่ยว (RNA) มีการกลายพันธุ์โดยธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา
และมีไวรัสบางสายพันธุ์ ที่สามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีน หรือทำให้วัคซีนมีประสิทธิผลในการป้องกันโรค ป้องกันการเจ็บป่วยได้น้อยลง
กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยดุ๊กร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (Duke-NUS Medical School) และ NCID : National Center for Infectious Diseases ได้ตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการในวารสารทางการแพทย์นิวอิงแลนด์ ( NEJM ) มีใจความสำคัญพอสรุปได้ว่า
ไวรัสก่อโรคโควิด-19 คือ ไวรัสตระกูลโคโรนาลำดับที่เจ็ด (SARS CoV-2) โดยมีความใกล้ชิดกันด้วยสารพันธุกรรมซ้ำมากกว่า 80% กับไวรัสโคโรนาลำดับที่ห้า (SARSCoV-1) ซึ่งก่อโรค SARS (Severe Acute Respiratory Syndrome)
จึงมีความน่าสนใจว่า ผู้ที่หายป่วยจากโรค SARS แล้ว จะมีภูมิคุ้มกันในร่างกายเป็นอย่างไรบ้าง และถ้าถูกกระตุ้นด้วยวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งเป็นไวรัสที่ใกล้เคียงกันมาก จะมีการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นในร่างกายอย่างไร
กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ดังกล่าว จึงได้ค้นหาผู้ที่เคยติดโรคซาร์สและหายดีแล้ว ตั้งแต่เมื่อปี 2003-2004 เมื่อเกือบ 20 ปีมาแล้ว

ซึ่งขณะนั้นมีการระบาดมากกว่า 29 ประเทศ ติดเชื้อไป 8000 คน และเสียชีวิตถึง 800 คน (10%)
โดยเมื่อนำอาสาสมัคร 8 คน ซึ่งเคยติดโรคซาร์สจนหายดีแล้ว มาตรวจดูระดับภูมิคุ้มกัน พบว่ามีภูมิคุ้มกันเฉพาะต่อไวรัส SARSCoV-1 หรือไวรัสโคโรนาลำดับที่ห้า เท่านั้น
จึงได้ฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีน mRNA ของไฟเซอร์สองเข็ม เพื่อเปรียบเทียบระดับภูมิคุ้มกัน กับการฉีดในอาสาสมัครซึ่งเป็นคนปกติดี 10 คน และในผู้ที่หายป่วยจากโควิด-19 แล้วอีก 10 คน
สิ่งที่น่าสนใจมากคือ ในการตรวจหาภูมิคุ้มกันด้วยวิธี sVNT ( Surrogate Virus Neutralisation Test ) หรือชื่อทางการค้าว่า cPass Test ซึ่งได้พัฒนา จนสามารถตรวจผลต่อไวรัสหลายสายพันธุ์ ในการทดสอบครั้งเดียว และได้การรับรองจาก USFDA
พบว่าในผู้ที่หายป่วยจากโรคซาร์สแล้ว หลังจากฉีดวัคซีนสองเข็ม มีระดับภูมิคุ้มกันขึ้นสูงอย่างมาก ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ

สิงคโปร์พบข้อมูลสำคัญทางวิทยาศาสตร์ ที่อาจพัฒนาเป็นวัคซีนชนิดพิเศษ
มีภูมิคุ้มกันขึ้นต่อสายพันธุ์ไวรัสชนิดต่างๆที่ทำการทดสอบครั้งนี้มากถึง 10 สายพันธุ์ด้วยกัน
ทั้งไวรัสสายพันธุ์หลักเดิม ไวรัสในกลุ่มที่น่ากังวล ( VOC : Variant of Concern) คือ อัลฟา เบต้า และเดลตา
รวมทั้งไวรัสโคโรนา ที่พบในสัตว์ได้แก่ ค้างคาว ตัวลิ่น (Pangolin) และตัวชะมด (Civet) ซึ่งล้วนแต่เป็นกลุ่มโคโรนาไวรัส ในกลุ่มย่อย (Subgroup) เดียวกัน ( Sarbecovirus )

ซึ่งมีความเป็นไปได้สูง ที่จะมีการติดเชื้อข้ามจากสัตว์ดังกล่าว เข้าสู่มนุษย์ เหมือนที่เคยเกิดมาแล้วในโรคซาร์ส และโรคโควิด-19
ทั้งนี้เนื่องจากในกลุ่มโคโรนาไวรัสดังกล่าวนี้ จะมีตำแหน่งที่ไวรัสจะใช้ส่วนหนาม ( Spike protein) จับกับหน่วยรับ ACE-2 ของเซลล์มนุษย์แล้วก่อให้เกิดโรคต่อไป
การพบดังกล่าวนี้เอง นักวิทยาศาสตร์จึงได้วางแผนที่จะพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 ( Second generation) ขึ้นมา ที่จะสามารถป้องกันไวรัสได้ทุกสายพันธุ์ในกลุ่มโคโรนาไวรัสดังกล่าว
นอกจากจะเป็นการป้องกันโรคต่อไวรัสโควิดกลายพันธุ์แล้ว (Variant)ยังจะสามารถรองรับกรณีเกิดโคโรนาไวรัสในสัตว์ ที่จะข้ามมาติดเชื้อคนในอนาคตได้ด้วย และยังกำลังพยายามพัฒนา ยารักษาที่เรียกว่าภูมิคุ้มกัน ( Clonal Antibody) จากคนที่หายแล้ว
นับเป็นความรู้ใหม่ การค้นพบใหม่ ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง สำหรับอนาคตของมนุษยชาติ ในการรับมือกับไวรัสกลายพันธุ์ของโควิด และไวรัสโคโรนาที่อยู่ในสัตว์ ซึ่งมีโอกาสเข้ามาติดเชื้อในคน เช่นที่เคยเกิดโรคซาร์ส (2003) โรคเมอร์ส (2012) และโควิด-19 (2019) มาแล้ว
สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลการรายงานจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-21 ส.ค. 64 พบว่า มีการฉีดสะสมแล้วจำนวน 26,832,179 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 20,272,171 ราย ฉีดครบ 2 เข็มแล้วจำนวน 6,017,820 ราย และฉีดเข็มที่ 3 จำนวน 542,188 ราย