หลังจากที่สำนักงานอาหารและยาแห่งสหรัฐ หรือเอฟดีเอ มีมติรับรองวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ อย่างเป็นทางการให้ใช้ฉีดกับประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไปได้นั้น
ล่าสุดนพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกมายืนยันว่า อย. เชิญชวนให้ไฟเซอร์ ประเทศไทย นำข้อมูลที่สมบูรณ์หรือที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิผลมายื่นขึ้นทะเบียนกับอย.
เพื่อให้รับรองการเป็นวัคซีนเต็มรูปแบบ (Full Approval) จากปัจจุบันที่เป็นการขึ้นทะเบียนวัคซีนแบบใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่ผ่านมา
ทั้งนี้หากไฟเซอร์ ประเทศไทยยื่นข้อมูลเอกสารเพิ่มเติมเข้ามาคาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 3-4 หมื่นหน้า อย.จะใช้เวลาพิจารณาไม่เกิน 30 วัน โดยเมื่อ อย. อนุมัติให้ขึ้นทะเบียนตามปกติได้แล้ว สามารถขายให้ใครได้เช่นเดียวกับวัคซีนทั่วไปหรือวัคซีนไข้หวัดใหญ่
หมายความว่า การซื้อขายวัคซีนไฟเซอร์จะทำผ่านบริษัทไฟเซอร์ ประเทศไทย ที่เป็นตัวแทนในการจำหน่ายเหมือนวัคซีนทั่วไป โดยเอกชนสามารถซื้อ-ขาย หรือนำเข้าเองได้ตามปกติ
ส่วนวัคซีนทางเลือก “โมเดอร์นา” พบว่า กำลังยื่นขึ้นทะเบียนในอเมริกาเช่นกัน ส่วนวัคซีนอื่นๆ จะขึ้นทะเบียนเต็มรูปแบบหรือไม่ ต้องดูว่าบริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศเองมีข้อมูลที่สมบูรณ์หรือไม่ หรือมีข้อมูลเพิ่มเติมที่ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือไม่ ถ้ามีและยื่นผ่านก็สามารถจำหน่ายและใช้ได้อย่างมั่นใจและเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อประชาชน
ผู้บริหารระดับสูง จากโรงพยาบาลเอกชนซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวแสดงความคิดเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การที่ไฟเซอร์ ผ่านการรับรองขึ้นทะเบียนเป็นวัคซีนเต็มรูปแบบของเอฟดีเอ สหรัฐอเมริกานั้น ถือเป็นสิ่งที่ดี ที่จะช่วยผลักดันให้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้หากวัคซีนไฟเซอร์ ผ่านการรับรองจาก อย. ให้เป็นวัคซีนเต็มรูปแบบสามารถฉีดได้เป็นการทั่วไป ก็จะทำให้คนไทยเข้าถึงวัคซีนได้ง่ายยิ่งขึ้น สร้างโอกาสให้คนไทยได้ฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ สร้างภูมิคุ้มกันได้ดีโดยเฉพาะกับไวรัสกลายพันธุ์
อย่างไรก็ดี หากไฟเซอร์ ยื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนเต็มรูปแบบในประเทศไทย และ อย. ผ่านการรับรอง เชื่อว่ามีภาคเอกชนสนใจสั่งซื้อและฉีดวัคซีนจำนวนมาก เพราะที่ผ่านมาเอกชนเองพยายามผลักดันให้เปิดเสรีวัคซีน แต่ทั้งนี้ยังมีอุปสรรค เพราะวันนี้วัคซีนมีดีมานด์ทั่วโลก เป็นตลาดของผู้ขาย
การจะสั่งซื้อต้องใช้ระยะเวลา หลายบริษัทมีออร์เดอร์ยาวข้ามปี และหลายบริษัทประสบปัญหาด้านการผลิต เช่น วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่มีออร์เดอร์ทั่วโลกนับพันล้านโดส แต่ผลิตได้ไม่เพียงพอเพราะประสบปัญหากระบวนการผลิตที่ซับซ้อน เช่นเดียวกับไฟเซอร์ ที่แม้จะผ่านการอนุมัติจาก อย. แล้ว แต่หากจะสั่งซื้ออาจต้องใช้เวลานานกว่าจะได้รับสินค้า
“หากเอกชนสามารถสั่งซื้อและนำเข้าได้เอง เชื่อว่าจะทำให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงวัคซีนและได้รับการฉีดวัคซีนได้เร็วขึ้น จะช่วยย่นระยะเวลาในการดำเนินการ สามารถบริหารจัดการได้เอง เพราะภาคเอกชนที่จะดำเนินการสั่งซื้อส่วนใหญ่จะเป็นโรงพยาบาลชั้นนำที่มีประสบการณ์ มีการบริหารจัดการแบบมืออาชีพอยู่แล้ว
และส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับบริษัทไฟเซอร์ ประเทศไทย หากได้รับวัคซีนและสามารถฉีดให้กับคนไทยได้เกิน 50% ภายในเดือนตุลาคมนี้ จะเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะยังเหลือเวลาอีก 2 เดือนคือพฤศจิกายน และธันวาคม ที่ผู้คนจะกลับมาใช้ชีวิตปกติ กลับมาทำงาน มีการจับจ่ายใช้สอย จะช่วยให้เศรษฐกิจประเทศกลับมาคึกคักได้”
ผู้บริหารรายนี้ ยังกล่าวอีกว่า โรงพยาบาลของตนเองเป็น 1 ในโรงพยาบาลเอกชนที่สนใจและพร้อมร่วมสนับสนุนให้โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ นำเข้าวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชนทั่วไป เพื่อให้คนไทยเข้าถึงวัคซีนได้ในวงกว้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ว่าจะพิจารณาจัดหาและนำเข้าวัคซีนใดที่เหมาะสม แต่ก็คาดหวังที่จะนำเข้ามาฉีดให้ได้เร็วที่สุดเพราะจะเป็นผลดีต่อประชาชนและประเทศชาติ
สำหรับความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรตินั้น พบว่า มีการเจรจากับผู้ผลิตหลายราย และเริ่มมีสัญญาณที่ดีที่เชื่อว่าจะบรรลุข้อตกลงได้ในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะทำให้สามารถสั่งซื้อและนำเข้าวัคซีนได้ภายในระยะเวลาอันสั้นทั้งนี้จะต้องมีการประกาศผ่านราชกิจจานุเบกษาอีกครั้ง