ตำรวจไซเบอร์จับมืออย. บุกทลายแหล่งผลิต-ขาย ครีมเถื่อนผ่านสื่อออนไลน์

25 ส.ค. 2564 | 21:48 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ส.ค. 2564 | 21:57 น.

ตำรวจไซเบอร์จับมืออย. บุกทลายแหล่งผลิต-ขาย ครีมเถื่อน สวมยี่ห้อ โฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ อีมาร์เก็ตเพลส เตือนตรวจสอบผลิตภัณฑ์ก่อนซื้อ เผยเคยมีผู้แพ้สารปรอทในเครื่องสำอางจนเสียชีวิต

กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ภาณุมาศ บุญญลักษม์ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.กานตพงศ์ ชัยรุ่งเรือง ผบก.สอท.2 และพ.ต.อ.ชูศักดิ์ เคทอง ผกก.2 บก.สอท.2 พร้อมด้วย

 

นพ. ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และภญ. สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข และรักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติการจับกุมผู้ลักลอบผลิตและจำหน่ายเครื่องสำอางโดยไม่ได้รับอนุญาต

 

สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบพบการโฆษณาเกินจริงของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ดีเอ็น ออร่า ไวท์ บอดี้ โลชั่น (DN AURA WHITE BODY LOTION) เลขที่ใบรับจดแจ้ง 11-1-6300052215 ทางสื่อออนไลน์และอีมาร์เก็ตเพลสเป็นจำนวนมากด้วยข้อความ

ตำรวจไซเบอร์จับมืออย. บุกทลายแหล่งผลิต-ขาย ครีมเถื่อนผ่านสื่อออนไลน์

เช่น “เปลี่ยน ผิวดำกรรมพันธุ์ สู่ผิวขาวใส ใน 7 วัน” ซึ่งเป็นข้อความที่แสดงสรรพคุณเกินขอบข่ายความเป็นเครื่องสำอางและไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า เครื่องสำอางดังกล่าวได้ยกเลิกเลขที่ใบรับจดแจ้งแล้วเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 จึงได้ประสานเจ้าหน้าที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เฝ้าระวังการโฆษณาเครื่องสำอางดังกล่าว

 

โดยเจ้าหน้าที่ บช.สอท. ภายใต้คณะทำงานสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ประเภทการหลอกลวงจำหน่ายสินค้าออนไลน์และการค้าขายสินค้าผิดกฎหมายผ่านสื่อออนไลน์ กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ๒ และเจ้าหน้าที่ อย. ได้ร่วมกันขยายผลติดตามสืบสวนแหล่งจำหน่าย

 

จนสืบทราบแหล่งลักลอบผลิตเครื่องสำอางรายใหญ่ยี่ห้อดังกล่าว จึงได้นำหมายค้นเข้าตรวจค้นอาคารบ้านพักใน อ. คลองหอยโข่ง จ. สงขลา พบว่า บ้านหลังดังกล่าวถูกใช้เป็นสถานที่ลักลอบผลิตเครื่องสำอางประเภทครีมจำนวนหลายยี่ห้อ เช่น ยี่ห้อดีเอ็น (DN) ยี่ห้อใหม่ (MAI) ยี่ห้อเคที (KT) จึงได้ทำการตรวจยึดของกลาง

 

ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ยี่ห้อ MAI และ DN กว่า 460 ชิ้น ยาคีโตโคยนาโซล 240 กล่อง บรรจุภัณฑ์เปล่ากว่า 10,000 ชิ้น เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต ครีมรอบรรจุ และฉลากสติกเกอร์ รวมมูลค่าของกลางกว่าสามแสนบาท และนำตัวอย่างของกลางส่งตรวจหาสารต้องห้าม ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ตำรวจไซเบอร์จับมืออย. บุกทลายแหล่งผลิต-ขาย ครีมเถื่อนผ่านสื่อออนไลน์

เบื้องต้นพบการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ฐาน

 

1. ผลิตเครื่องสำอางโดยไม่จดแจ้ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

2. ผลิตเพื่อขายเครื่องสำอางปลอม มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ตำรวจไซเบอร์จับมืออย. บุกทลายแหล่งผลิต-ขาย ครีมเถื่อนผ่านสื่อออนไลน์

3. หากผลตรวจวิเคราะห์พบสารห้ามใช้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ฐาน

 

1. ขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใด ๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพหรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

2. เอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ หรือทำให้ปรากฏที่สินค้า หีบ ห่อ วัตถุที่ใช้หุ้มห่อ แจ้งความ รายการแสดงราคา จดหมายเกี่ยวกับการค้าหรือสิ่งอื่นทำนองเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของผู้อื่นนั้น มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 

พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กล่าวว่า การจับกุมในครั้งนี้ผู้กระทำความผิดรับสารภาพว่า เคยสั่งผลิตเครื่องสำอางดังกล่าวกับผู้ผลิตแต่ไม่ได้กำไรเท่าที่ควร จึงลองผลิตและจำหน่ายเองเพื่อเพิ่มกำไร ซึ่งลักลอบทำมากว่า 2 ปีแล้ว

 

ทั้งนี้พี่น้องประชาชน ควรตรวจสอบผลิตภัณฑ์ทุกครั้งก่อนที่จะทำการสั่งซื้อสินค้าจากสื่อออนไลน์ กรณีเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพควรตรวจดูเลขที่จดแจ้ง เลข อย. ถูกต้องหรือไม่ เว็บไซต์ผู้จำหน่ายมีความน่าเชื่อถือเพียงใด และแจ้งเตือนกลุ่มผู้ขายสินค้าไม่ซื่อสัตย์ ขายสินค้าไม่ปลอดภัยในการใช้

ตำรวจไซเบอร์จับมืออย. บุกทลายแหล่งผลิต-ขาย ครีมเถื่อนผ่านสื่อออนไลน์

หรือโฆษณาชวนเชื่อสรรพคุณเกินจริงผ่านสื่อออนไลน์ อาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี หรือปรับสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท หากพี่น้องประชาชนพบเห็นการกระทำความผิดสามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน 1441 ตำรวจไซเบอร์ หรือเพจกองบัญชาการตารวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.)

 

ด้านภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุขและรักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ครีมเถื่อนที่ยึดได้ในครั้งนี้มักขายตามร้านค้าออนไลน์ หรือตามแพลตฟอร์มต่าง ๆ มักโฆษณาอ้างรักษาสิว รอยแผลเป็น ฝ้า กระ ช่วยให้ผิวขาวกระจ่างใส ดำกรรมพันธุ์ก็ขาวขึ้น เห็นผลใน 7 วัน

ตำรวจไซเบอร์จับมืออย. บุกทลายแหล่งผลิต-ขาย ครีมเถื่อนผ่านสื่อออนไลน์

ที่ผ่านมา อย. เคยตรวจพบสารห้ามใช้ในเครื่องสำอางประเภทนี้เช่น สารปรอท ไฮโดรควิโนน กรดวิตามินเอ สเตียรอยด์ ซึ่งหากใช้เป็นเวลานาน อาจทำให้ผิวหน้าดำผิวบางลง แพ้แสงแดดหรือแสงไฟได้ง่าย ผิวแตกลายถาวร เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากได้รับสารปรอทในปริมาณมาก อาจเกิดพิษสะสม ส่งผลให้ไตอักเสบ

 

ซึ่งเคยมีผู้แพ้สารปรอทในเครื่องสำอางจนเสียชีวิตมาแล้ว จึงขอเตือนประชาชนให้เพิ่มความระมัดระวังในการเลือกซื้อเครื่องสำอาง อย่าซื้อเพียงเพราะหลงเชื่อคำโฆษณาว่า เครื่องสำอางนี้ช่วยรักษาสิว ฝ้า กระ รอยดำลดลง ช่วยให้ผิวกระจ่างใส ให้ผลเร็ว

 

เพราะมักพบว่า มีการลักลอบใส่สารห้ามใช้ ซึ่งเมื่อใช้ไประยะหนึ่งจากผิวที่ดูขาวจะกลายเป็นดำคล้ำ เป็นฝ้าถาวร หรือรอยแผลเป็นถาวร ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ก่อนซื้อขอให้ตรวจสอบเลขที่จดแจ้งและติดตามข่าวสารการแจ้งเตือนเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัย ทางเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th หรือ ไลน์ @fdathai หากพบการลักลอบผลิต นำเข้า จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาที่สายด่วน อย. 1556