นพ.จเด็ด ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ขณะนี้องค์การเภสัชกรรม (อภ.)ได้ลงนามจัดซื้อชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (Antigen test kit) หรือ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุดแล้ว โดยก่อนหน้านี้ สปสช. ได้มีการหารือเตรียมความพร้อมในการกระจายชุดตรวจ ATK นี้แล้ว เบื้องต้นกำหนดให้กระจายในพื้นที่สีแดงก่อน ประชาชนกลุ่มเสี่ยงในชุมชนแออัด และประชาชนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่อื่นทั่วไปผ่านหน่วยบริการและร้านยา ซึ่งจะได้รับชุดตรวจ ATK คนละ 2 ชุด เว้นระยะตรวจห่างกัน 5 วัน
การกระจาย ATK ในชุมชน กทม. มีจำนวน 2,000 ชุมชน กำหนดแจก ATK ชุมชนละ 1,008 ชุด รวมเป็นจำนวน 2 ล้านชุด โดยส่งผ่านศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) โดยการดูแลของสำนักอนามัย กทม. ทีมแพทย์อาสาวินิจฉัย และให้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ผู้นำชุมชน หรือผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้นำไปแจกในชุมชน ครอบคลุมดูแลประชาชนทุกสิทธิ เน้นกลุ่มเสี่ยง อาทิ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ และผู้ป่วย 7 โรค ผู้ที่สงสัยว่ามีอาการติดเชื้อ ผู้ที่อยู่ร่วมบ้านกับผู้ป่วยโควิด และผู้ทำงานประสานงานในชุมชน
ทั้งนี้ หากผลตรวจพบเชื้อจะมีการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้กับผู้ติดเชื้อและลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการดูแลผู้ป่วยโควิดที่บ้านและในชุมชน (HI/CI) โดยเป็นการดำเนินการในรูป One stop service ตามหลักการ “แจก-เจอ-จ่าย-จบ”
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ส่วนการแจก ATK ให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่อื่นทั่วไป จะเป็นการกระจายผ่านหน่วยบริการในพื้นที่ รวมถึงร้านยา คลินิกเวชกรรม และคลินิกพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ ด้วยระบบ VMI ขององค์การเภสัชกรรม
เริ่มต้นประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่จะรับ ATK นี้ ต้องทำแบบคัดกรองความเสี่ยงในแอปเป๋าตัง ที่ดำเนินการโดยธนาคารกรุงไทย คลิกที่ “รับชุดตรวจโควิด-19” หากผลประเมินพบว่าอยู่ในเกณฑ์กลุ่มเสี่ยง ให้เข้ารับชุดตรวจ ATK ตามหน่วยบริการข้างต้นในพื้นที่ได้ โดยทำการยืนยันตัวตนก่อนรับชุดตรวจ ATK ฟรี ด้วยการสแกน QR Code ในระบบแอปเป๋าตัง และหน่วยบริการจะจ่ายชุดตรวจ ATK ให้จำนวน 2 ชุด สำหรับการตรวจ 2 ครั้ง ห่างครั้งละ 5 วัน พร้อมให้คำแนะนำการดูแลตนเองและเข้าสู่ระบบการดูแลผู้ป่วยโควิดที่บ้านที่สามารถลงทะเบียนผ่านแอปเป๋าตังได้เช่นกัน
สำหรับกรณีที่ไม่มีมือถือสมาร์ทโฟน จะมีการกระจายชุดตรวจ ATK เชิงรุกในชุมชนพื้นที่สีแดงใน กทม. ซึ่งทางกรุงเทพมหานครกำหนดไว้มีจำนวน 2,000 ชุมชน โดยกระจายผ่านทางผู้นำชุมชน และอาสาสมัครสาธารณสุข ให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงในชุมชน เพื่อให้สามารถครอบคลุมการแจกจ่ายได้อย่างทั่วถึง รวมถึงเป็นการอำนวยความสะดวก และลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อด้วยเช่นกัน
จากข้อมูลขณะนี้ มีหน่วยบริการเอกชนที่สมัครเข้าร่วมแจกชุดตรวจ ATK จำนวน 1,559 แห่ง แยกเป็น ร้านยาแผนปัจจุบันประเภท 1 จำนวน 1,436 แห่ง (ร้อยละ 92.11) คลินิกเวชกรรมจำนวน 114 แห่ง (ร้อยละ 7.3) และคลินิกพยาบาลจำนวน 9 แห่ง (ร้อยละ 0.58) อย่างไรก็ตามหากเกิดการแพร่ระบาดมากขึ้น จะมีการเปิดระบบจัดส่งชุดตรวจ ATK ทางไปรษณีย์ต่อไป เพื่อลดการเดินทางและแพร่กระจายเชื้อ
“ขณะนี้ สปสช. จัดทำแผนกระจายชุดตรวจ ATK รองรับไว้แล้ว ทันทีที่มีการส่งมอบชุดตรวจ ATK สปสช. พร้อมเดินหน้าโดยร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงเข้าถึงบริการโดยเร็ว” เลขาธิการ สปสช. กล่าว