ผศ.ดร.วรัชญ์ห่วงไวรัสสายพันธุ์ใหม่-ม็อบ-เจ้าหน้าที่ละเลยทำโควิดระบาด

31 ส.ค. 2564 | 13:15 น.

ผศ.ดร.วรัชญ์ห่วงปัจจัยแทรกซ้อนทั้งไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ม็อบ เจ้าหน้าที่ปล่อยปละละเลยทำโควิดระบาด หวังคลายล็อกโควิดไม่ระบาดซ้ำรอยต่างประเทศ เหตุคนไทยขี้กลัวและระวังตัวเรื่องสุขภาพมากกว่าชาวตะวันตก

รายงานข่าวระบุว่า ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสเฟซบุ๊กส่วนตัว (Warat Karuchit) โดยมีข้อความระบุว่า 
หลายคนอาจจะเป็นห่วงการ "ปรับมาตรการ" (สังเกตว่าภาครัฐจะไม่ใช้คำว่า "ผ่อนคลาย" เพราะถือว่าเปิดกิจการ/กิจกรรม ด้วยการเสริมมาตรการอื่น) ว่าจะนำไปสู่การระบาดซ้ำเหมือนอเมริกา อังกฤษ อิสราเอล และหลายๆประเทศ
ก็คงไม่มีใครบอกได้หรอกว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่คิดว่า เรามีหลายๆอย่างที่ต่างจากประเทศเหล่านี้ 
1. คนไทยส่วนใหญ่ "ขี้กลัว" และ "ระวังตัว" เรื่องสุขภาพ มากกว่าชาวตะวันตกเยอะ ในประเทศต่างๆที่เกิดระลอกใหม่ทั้งที่ฉีดวัคซีนแล้ว ไปดูเถอะ เขาคิดว่าปลอดภัยแล้ว จึงไม่ใส่แมสก์ ฉลองกันเต็มเหนี่ยว แถมยังมีคนตะวันตกจำนวนมากที่ "รักเสรีภาพยิ่งกว่าชีวิต" (ความหมายตรงตัวเลย) คือเป็นพวก anti-vaxxer ไม่ยอมฉีดวัคซีนไม่ว่าจะเสี่ยงตายก็ตาม (ซึ่งผมเองไม่มีทางที่จะเข้าใจตรรกะเขาได้เลย) คือไม่ฉีดวัคซีนตัวไหนทั้งสิ้นในชีวิตนี้ ป่วยก็รักษาเอา ถ้าบังคับ เขาก็ประท้วง หรือบางคนยอมย้ายรัฐเลย (เว่อร์ขนาดนั้น) บางคนเป็นสื่อ ก็พูดปั่นหัวคนทุกวันว่าอย่าไปฉีด มีสารโน่นนี่นั่นในวัคซีน เป็นเรื่องลวงโลก (เลวมาก) คนที่ไม่ฉีดวัคซีนเหล่านี้จึงกลายเป็นแหล่งแพร่พันธุ์เชื้อที่ทำให้คนฉีดวัคซีน และหมอออกมาด่าอยู่บ่อยๆ (และก็ตายกันไปหลายคนแล้ว) 
แต่เท่าที่ดู มองว่าคนไทยอาจมีบ้าง แต่น่าจะน้อย ที่ไม่ฉีดเพราะโดนปั่นหัวจากพวกด้อยค่าวัคซีนมากกว่า (บาปกรรมมาก) แต่ส่วนใหญ่ถ้าเป็นกระแสสังคมกดดันและการบังคับจากรัฐ น่าจะยอมไปฉีดในทึ่สุด (และต่อไป คนที่ไม่ฉีดวัคซีนก็จะเสียสิทธิในหลายๆอย่าง จนจะต้องยอมไปฉีดในที่สุด) 

2. เราโชคร้ายที่มาเจอระลอกเดลตา ตอนที่วัคซีนเรายังไม่ทั่วถึง (ซึ่งก็คล้ายกับหลายประเทศในเอเชีย) ทำให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมาก แต่ความโชคดีในโชคร้ายก็คือ ประเทศอื่นๆในตะวันตกที่ฉีดวัคซีนมากและยังติดเชื้อ เป็นตัวอย่างให้เราเรียนรู้ว่า เราไม่มีทางที่จะคิดว่าเราจะกำจัดโควิดและกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม แต่ต้องอยู่ร่วมกับโควิด และระมัดระวังแม้ฉีดวัคซีนแล้ว

เริ่มคลายล็อก 1 กันยายน 64

ดังนั้นปลายปีนี้ แม้เราจะมีการเฉลิมฉลอง ทำกิจกรรมอะไรต่างๆได้แทบจะเหมือนเดิม แต่เชื่อว่าสิ่งที่ไม่เหมือนเดิมก็คือ การบังคับใส่แมสก์ การแสดงผลวัคซีนและตรวจเชื้อ การจัดสถานที่แยกระยะห่าง และอื่นๆ ที่จะทำให้เรา "ไม่ซ้ำรอย" กับประเทศอื่นๆที่เกิดระลอกใหม่ขึ้นมาหลังจากการ "ประกาศชัยชนะ" เหนือโควิดแล้ว ซึ่งตอนนี้รัฐก็ประกาศนโยบาย Smart Control & Living with Covid ที่เราจะใช้เป็นแนวทางในการดำเนินมาตรการต่อๆไปแล้ว
ทั้งหมดนี้ก็เป็นการมองโลกในแง่ดี ในความเป็นจริงก็มีปัจจัยแทรกซ้อนอีกมาก ทั้งสายพันธุ์ใหม่ ท้้งม็อบ (มาแน่นอน) ทั้งพวกทำตัวเป็นภาระสังคมไม่ป้องกันตัวเอง ทั้งเจ้าหน้าที่ปล่อยปละละเลย ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นสิ่งที่ประเทศที่ว่ามาเขาไม่มีแบบเรา
แต่วันนี้ ขออยู่กับความหวังนะครับ ว่าเหตุผล 2 ข้อที่ว่ามา จะมีพลังสูงกว่าปัจจัยเชิงลบของไทยแลนด์ (only) และจะทำให้เราฟื้นตัวได้โดยไม่สะดุดเหมือนประเทศอื่นๆ

ประเด็นดังกล่าวมาจากการที่วันที่ 1 กันยายน 2564 ศบค.ได้มีมติให้คลายล็อก หรือผ่อนคลายกิจการกิจกรรมบางส่วน พร้อมปรับการควบคุมโรคแนวใหม่ที่สมดุลกับการดำเนินชีวิตที่ปลอดภัยจากโควิด-19
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมข้อมูลข้อมูลว่าใน 29 จังหวัดสีแดงเข้ม สถานที่ไหนยังปิดอยู่-เปิดได้แล้ว
โดยพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ยังคง 29 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) 37 จังหวัด และพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) 11 จังหวัด โดยคงมาตรการทางสังคม Work From Home และเคอร์ฟิว 21.00-04.00 น. ใน 29 จังหวัดสีแดงเข้มต่อไปอีก 14 วัน
สำหรับการคลายล็อก 29 จังหวัด (สีแดงเข้ม) มีดังนี้
1. การเปิดบริการของร้านอาหาร ไม่มีเครื่องปรับอากาศ นั่งได้ 75% มีเครื่องปรับอากาศ 50%
2. ร้านอาหาร ไม่มีเครื่องปรับอากาศ นั่งได้ 75% มีเครื่องปรับอากาศ 50%
3. เปิดใช้อาคารของสถานศึกษา โดยสามารถใช้เพื่อจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือทำกิจกรรมใดๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก
4. เปิดใช้สนามกีฬา/สวนสาธารณะ
5. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดได้ทุกแผนกไม่เกิน 20.00 น. โดยมีเงื่อนไขดังนี้
ร้านเสริมสวย เปิดเฉพาะตัดเท่านั้น (ไม่เกิน 1 ชม./คน)
ร้านนวด เปิดให้บริการได้เฉพาะนวดเท้า
คลินิกเสริมความงาม เปิดเฉพาะจำหน่ายสินค้า
สำหรับยังไม่เปิดให้บริการ มีดังนี้
สถาบันกวดวิชา
โรงภาพยนตร์
สปา
สวนสนุก
สวนน้ำ
ฟิตเนส
ห้องออกกำลังกาย
สระว่ายน้ำ
ห้องจัดประชุม/จัดเลี้ยง