นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมด้วย นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงวานนี้ ( 31 ส.ค.) ที่อาคารสัปปายะสภาสถาน รัฐสภา ชี้แจงกรณีข้อสงสัย ประสิทธิผลและความปลอดภัยของวัคซีนซิโนแวค
โดยนายแพทย์ไพศาล กล่าวว่า วัคซีนที่จะนำมาใช้ในประเทศได้ ต้องผ่านการอนุมัติและขึ้นทะเบียน โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2564 ใช้วิธีการอนุมัติในสถานการณ์ฉุกเฉิน และใช้เวลาในการพิจารณา 29 วันโดยคำนึงถึงความปลอดภัยคุณภาพ มาตรฐาน และประสิทธิผลวัคซีน
การพิจารณาได้ระดมบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญจากทั้งในและนอก อย. ร่วมกันประเมินเพื่อให้ได้วัคซีนที่มีคุณภาพและความปลอดภัย สำหรับข้อมูลประสิทธิผลวัคซีนซิโนแวคในบราซิลทดลองในบุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากมีโอกาสสัมผัสโรคสูงสามารถเกิดโรคได้ง่ายกว่าคนทั่วไป พบว่าสามารถป้องกันการป่วยเข้าโรงพยาบาลได้ 78% ลดการตายได้ 100% มีประสิทธิผลมากกว่า 50% หลังจาก อย.ได้ขึ้นทะเบียนแล้วองค์การอนามัยโลก (WHO)ได้ให้การรับรอง และสั่งซื้อหลายร้อยล้านโดสมีการกระจายไปในหลายประเทศทั่วโลก
ด้าน นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวว่า วัคซีนที่นำเข้ามาทุกล็อต ต้องผ่านการรับรองรุ่นการผลิตจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งตรวจจากตัววัคซีนโดยตรง ไม่ใช่ตรวจเฉพาะเอกสารเท่านั้น โดยต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานทุกข้อ ก่อนส่งไปยังกรมควบคุมโรค สำหรับประสิทธิผลที่มีต่อการกลายพันธุ์ของไวรัส กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ทำการทดลองร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล โดยใช้เลือดจากอาสาสมัคร ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม พบว่าสามารถกันสายพันธุ์เดลตาได้ แสดงให้เห็นว่าวัคซีนซิโนแวคที่ฉีดไปสองเข็มไม่เสียเปล่า มีประโยชน์ในการช่วยระบบสาธารณสุขของประเทศ หากตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา ไม่มีการฉีดวัคซีนซิโนแวค อาจมีผู้เสียชีวิตในไทยหลายเท่า ยืนยันว่าวัคซีนที่ดีที่สุด คือวัคซีนที่อยู่ในตัวแล้ว
ส่วน นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า กรมควบคุมโรคร่วมกับหน่วยงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทำการประเมินผลและประสิทธิภาพการฉีดวัคซีนซิโนแวค เช่น ที่ จ.ภูเก็ต พบว่าสามารถป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ 90.6% ส่วนที่สมุทรสาคร พบว่าป้องกันโรคได้ 90% และเมื่อมีการระบาดในบุคลากรสาธารณสุข จ.เชียงราย ก็มีประสิทธิผลป้องกันโรคได้ 82%
นอกจากนี้ กองระบาดวิทยาได้ สรุปผลการฉีดวัคซีนภาพรวมตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม 2564 พบว่า
“ขอยืนยันว่าไม่มีการปกปิดตัวเลข สามารถตรวจสอบได้จากตัวเลขผู้ป่วยที่เข้ารักษาที่โรงพยาบาลลดลงชัดเจน เช่น โรงพยาบาลสนามบุษราคัม จากที่เคยมีมากกว่า 3,500 คน เหลือ 1,500 คน โรงพยาบาลทุกแห่ง คนไข้ลดลง ต่างจังหวัดก็ลด หรือที่ศูนย์นิมิบุตร จากเดิมมีคนไข้รอส่งต่อหลายร้อยคน ก็เหลือไม่ถึง 70 คน” นายแพทย์โอภาสกล่าวสรุป