แปลงร่าง ศบค. ด้วย พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับใหม่ จ่อบังคับใช้สิ้นเดือน ก.ย. นี้

09 ก.ย. 2564 | 00:30 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ย. 2564 | 18:09 น.

ประเด็นที่น่าจับตาก็คือ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ฉบับใหม่ ที่จะใช้หลังยกเลิก ศบค. ภายในสิ้นเดือน ก.ย.นี้ ให้อำนาจอัตโนมัติ สั่งเคอร์ฟิว ปิดกิจการ กิจกรรมได้ “หมอสุภัทร” ชี้ว่า ศบค.หมดสภาพและอาจะเป็นการแปลงร่างภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ

กระแสข่าวการประชุม ศบค. ชุดใหญ่วันที่ 10 ก.ย. เพื่อเตรียมพิจารณายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินและกลับไปใช้กลไก พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับแก้ไขเพิ่มเติมยังคงน่าจับตา เพราะนั่นหมายความว่า ศบค. ที่ถูกตั้งขึ้นโดยอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะสิ้นสภาพไปโดยปริยาย และจะโอนอำนาจหน้าที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข แทนการมัดรวมอำนาจมาอยู่ที่นายกรัฐมนตรีเหมือนแต่ก่อน และคาดว่าน่าเริ่มวันที่ 1 ต.ค.นี้  

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ และประธานชมรมแพทย์ชนบท ให้สัมภาษณ์ฐานเศรษฐกิจ โดยมองว่านี่อาจจะเป็นการแปลงร่าง ศบค.ในรูปแบบ พ.ร.บ.ควบคุมโรค พร้อมกับเห็นด้วยในหลักการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะมีขอบเขตอำนาจที่กว้างขวางเกินการควบคุมโรค มีการใช้อำนาจไม่ตรงกับข้อกฎหมายของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถือว่าเป็นการชี้ความสามารถของกระทรวงสาธารณสุขว่าจะสามารถจัดการกับโควิดได้ดีกว่า ศบค.หรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่าปัจจุบัน ศบค.ถูกโจมตีอย่างหนัก กระแสกดดันพุ่งมาที่นายกรัฐมนตรี รวมทั้งการบริหารงานที่ถูกมองว่ามีความล่าช้าทั้งการควบคุมการแพร่ระบาดและการบริหารจัดการวัคซีนโควิด

“ศบค.ถือว่าหมดสภาพความน่าเชื่อถือและความศรัทธาแล้ว เมื่อสถานการณ์โควิดเปลี่ยนไปก็ถูกต้องแล้วที่กฎหมายต่างๆที่เอามาใช้ก็ต้องมีการปรับเพื่อการเปิดประเทศ การเดินหน้าเศรษฐกิจ รัฐบาลควรสร้างสมดุลทั้งในแง่การควบคุมการแพร่ระบาดและในมิติการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ไม่ควรทำเรื่องคุมโรค ควรหันมาทำเรื่องการฟื้นฟูประเทศและให้กระทรวงสาธารณสุขทำเรื่องควบคุมโรคไป”

ก่อนหน้านี้ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สช.) ได้ระบุว่า เป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรีและ ศบค.ที่ให้เตรียมการไว้ล่วงหน้า ซึ่งหากสถานการณ์ยังทรงตัวเช่นปัจจุบันก็มีความเป็นไปได้ที่จะไม่ต่อขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศบค.จะจบภารกิจหลังยุติการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่อาจมีการแปรสภาพเพื่อให้ทำหน้าที่ได้ภายใต้กฎหมายใหม่ที่รัฐบาลกำลังพิจารณาอยู่ หรือ ร่าง พ.ร.บ. โรคติดต่อฉบับแก้ไขเพิ่มเติม

รายงานข่าวแจ้งว่านายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ล่าสุด ร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับใหม่ อยู่ในขั้นตอนคณะกรรมการกฤษฎีกา ต้องรอให้ส่งกลับมาให้ ครม. ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย

สำหรับหลักการของ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ฉบับใหม่ จะเป็นการยกระดับการทำงานของ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ให้มีความใกล้เคียงกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ โครงสร้างของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จะมีรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน และมีอธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นเลขาธิการคณะกรรมการ โครงสร้างนี้จะเกิดขึ้นหากเป็นสถานการณ์ปกติ แต่ถ้าเป็นสถานการณ์อันตรายหมายถึงการระบาดของโรครุนแรง จะมีการแต่งตั้ง คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในสถานการณ์ฉุกเฉิน

โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กำกับดูแลการแก้ปัญหา สั่งการกระทรวงต่างๆ ได้ และยังแต่งตั้งเลขาธิการร่วม ขึ้นมาทำงานควบคู่กับอธิบดีกรมควบคุมโรคได้ด้วย ส่วนคณะกรรมการฯในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น สามารถแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเข้ามาได้ด้วย และยังมีรายงานว่าจะทำให้อำนาจในการสั่งควบคุมป้องกันโรค สั่งเคอร์ฟิว สั่งปิดกิจการต่าง ๆ ได้ โดยไม่ต้องอาศัยการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน