4 ปัจจัยหลักพึงมีก่อนเปิดประเทศ หมอธีระแนะดูบทเรียนพื้นที่ระบาดซ้ำรุนแรง

21 ก.ย. 2564 | 03:22 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.ย. 2564 | 10:22 น.

หมอธีระเผย 4 ปัจจัยหลักที่ควรมีก่อนพิจารณาเปิดประเทศ ระบุต้องคุมการระบาดได้ ระบบตรวจคัดกรองโรคมาตรฐาน วัคซีนประสิทธิภาพสูง และปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน แนะดูบทเรียนจากพื้นที่ระบาดซ้ำรุนแรง

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
ปัจจัยหลัก 4 ประการ ที่ควรมีให้พร้อม ก่อนพิจารณาเปิดประเทศ
หนึ่ง คุมการระบาดให้ได้ 
จำนวนติดเชื้อใหม่หลักพันต้นๆ หรือน้อยกว่านั้นได้ยิ่งดี ยิ่งระดับการติดเชื้อพื้นฐานต่ำ โอกาสปะทุซ้ำรุนแรงยิ่งลดลง และมีโอกาสมีช่วงเวลาหายใจสะดวกนานขึ้น
สอง ระบบการตรวจคัดกรองโรคมาตรฐาน RT-PCR มีศักยภาพตรวจได้จำนวนมากต่อวัน โดยต้องสามารถตรวจได้อย่างน้อย 200,000 test ต่อวัน 
ประชาชนต้องสามารถเข้าถึงบริการตรวจมาตรฐานได้อย่างสะดวก ทั่วถึง ทันเวลา ไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่ติดกฎเกณฑ์ใดๆ
สาม วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง ตามมาตรฐานวิชาการสากลที่เป็นที่ยอมรับ มีปริมาณเพียงพอสำหรับทุกคนในประเทศ และได้รับการฉีดกันอย่างครบถ้วนทั่วถึง
และสุดท้าย สี่ สำคัญมากคือ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันของคน รวมถึงการทำการค้าขาย บริการต่างๆ ที่มุ่งเน้นความปลอดภัยอย่างเป็นปกติวิสัย เป็นกิจวัตร เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อ
ดูจากบทเรียนพื้นที่จังหวัดต่างๆ ในประเทศที่มีการระบาดซ้ำรุนแรง รวมถึงประเทศอื่นๆ ที่กำลังเผชิญปัญหาอยู่ ก็ล้วนมีผลมาจากปัจจัยต่างๆ ข้างต้นทั้งสิ้น

ทั้งนี้ จากการติดตามข้อมูลของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเคยกล่าวเอาไว้เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 64 ว่า มีกำหนดเปิดประเทศทั้งประเทศใน 120 วัน ซึ่งจะครบในวันที่ 13 ตุลาคมนี้ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นไปได้ยาก หากดูจากจำนวนของผู้ติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศที่ยังมีอยู่เป้นจำนวนมาก  ขณะที่การฉีดวัคซีนให้คนไทยทั่วประเทศยังไม่ถึง 70% ของประชากร
ดังนั้น แนวทางการเปิดประเทศจึงทยอยไล่เรียงไปยังจังหวัดที่อาศัยรายได้หลักจากการท่องเที่ยวก่อน โดยเริ่มจากภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ในวันที่ 1 กรกฎาคม 64 ตามด้วยสมุย พลัส โมเดลที่รวมเกาะพะงันและเกาะเต่า เข้าไปด้วย ในวันที่ 15 กรกฏาคม 64

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
อย่างไรก็ดี พื้นที่ที่เปิดแล้วก็ไม่ได้เป็นไปตามแผนทั้งหมด เช่น ที่วางเป้าหมายให้ได้นักท่องเที่ยว 100,000 คน ใน 3 เดือนแรกของภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ แต่ข้อมูลจนถึงวันที่ 17 กันยายนยังอยู่ที่ 33,413 คน
ส่วนสมุย พลัส โมเดล วางเป้าไว้เพียง 1,000 คน ในช่วงครบเดือนแรก แต่จนถึงวันที่ 17 กันยายนมีเพียง 742 คน
สำหรับเหตุผลสำคัญมาจากตั้งแต่ที่เริ่มเปิดโครงการ โควิดสายพันธุ์เดลตาได้เข้ามาระบาดไปทั่วประเทศไทยทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมาก จนทำให้หลายประเทศยกระดับคำเตือนมาไทยเป็นสีแดงหรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงมาเที่ยวได้ ไม่ห้าม แต่กลับประเทศแล้วต้องถูกกักตัว ทำให้นักท่องเที่ยวหลายคนที่เตรียมตัวเดินทางมา ต้องทบทวนและถอยกลับไป
โดยชาวต่างขาติที่เดินทางมาส่วนใหญ่จะมาจากแถบยุโรป ตะวันออกกลาง อเมริกา หรือนักลงทุนที่จำเป็นต้องเดินทางเข้าประเทศไทย รวมถึงผู้ที่มีครอบครัวเป็นคนไทย มีบ้านอยู่ในไทยเป็นหลัก ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวจีน ทางรัฐบาลยังไม่อนุญาตให้ออกท่องเที่ยวนอกประเทศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 64 ศบค. ได้อนุมัติแผนดึงดึงนักท่องเที่ยวภายใต้ชื่อโครงการ 7+7 Phuket Extention เริ่มต้นจากต่างประเทศมาบินลงที่ภูเก็ตอยู่จนครบ 7 วัน ตรวจแล้วไม่พบการติดเชื้อโควิด-19 สามารถไปต่อได้ในบางพื้นที่ของ 3 จังหวัด อีก 7 วัน ได้แก่ เกาะพีพี ไร่เลย์ เกาะไหง จ.กระบี่ ,เขาหลัก เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ จ.พังงา และเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อรวมแล้วครบ 14 วัน ตรวจหาเชื้ออีกครั้งไม่พบการติดเชื้อก็สามารถเดินทางได้ทั่วประเทศไทย โดยภาพรวมถือว่าเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น  ซึ่งดูได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในเดือนกรกฎาคมที่นับว่าเริ่มต้นได้ดี มาลดลงในเดือนสิงหาคมจากนั้นก็กลับมากระเตื้องขึ้นในเดือนกันยายนได้ ที่สำคัญคือช่วยแก้ปัญหาของสมุย พลัส โมเดลที่วางรูปแบบให้นักท่องเที่ยวต้องถูกกักตัวในพื้นที่ที่จำกัดใน 3 วันแรก จนนักท่องเที่ยวเลือกไปภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์มากกว่า
ในขั้นตอนต่อไป คือ แผนเปิดประเทศเพิ่มอีก 5 จังหวัด ในเดือนตุลาคมนี้ ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร ชลบุรี (พัทยา อ.บางละมุง อ.สัตหีบ) เชียงใหม่ (อ.เมือง อ.แม่ริม อ.แม่แตง อ.ดอยเต่า) เพชรบุรี (ชะอำ) ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) ในรูปแบบของ Sealed Area คือ เที่ยวแบบจำกัดพื้นที่ โดยไม่กักตัว เหมือนกับภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ และให้มีหลักการปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวทั้งหมด หรือ One SOP One System ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ผู้เดินทางเข้าประเทศต้องปฏิบัติ ตั้งแต่การเดินทางมาจากกลุ่มประเทศเสี่ยงต่ำและปานกลาง รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้วทำประกันสุขภาพ วงเงินคุ้มครองไม่ต่ำกว่า 100,000 เหรียญสหรัฐฯ ต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR จากประเทศต้นทาง และตรวจอีก 3 ครั้งในประเทศไทย โดยต้องมีเอกสารหลักฐานการชำระค่าที่พักมาตรฐาน SHA+ และค่า RT-PCR รวมทั้งต้องยื่นขอใบอนุญาตเดินทางเข้าประเทศ (COE) และเมื่ออยู่ในไทยต้องติดตั้งแอปพลิเคชันหมอชนะ

จับตาความชัดเจนการเปิดประเทศในการประชุม ศบค. 23 กันยายน
นักท่องเที่ยวที่มีผลตรวจ RT-PCR ในไทยแล้วไม่พบการติดเชื้อ สามารถเดินทางไปได้ทั่วพื้นที่ เมื่อครบ 7 วัน สามารถไปต่อในพื้นที่นำร่องอื่นๆ และเมื่อครบ 14 วัน สามารถไปได้ทั่วประเทศ
เดิมแผนของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กำหนดให้เปิดในวันที่ 1 ตุลาคม 64 ทั้งหมด แต่ติดปัญหาสำคัญคือ กรุงเทพมหานครอาจต้องเลื่อนไปเปิดเดือนพฤศจิกายน เพื่อรอให้จังหวัดในปริมณฑลที่เป็นรอยต่อกรุงเทพฯ ฉีดวัคซีนให้ครบก่อน ต่อมาจึงมีอีกแผนที่จะทำให้กรุงเทพฯเปิดในวันที่ 1 ตุลาคม พร้อมกับอีก 4 จังหวัดให้ได้ คือ เลือกเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯชั้นในก่อน
ล่าสุดผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแนะนำว่า การเปิดเพียงกรุงเทพฯชั้นในจำกัดพื้นที่ได้ยาก ให้เปิดพร้อมพร้อมกันทุกเขตของกรุงเทพฯ ภายใต้เงื่อนไขคนในพื้นที่ได้รับวัคซีนเข็ม 2 ได้ครบ 70% จากเดิมกำหนดครบในวันที่ 22 ตุลาคม 64 จากนั้นคือ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา จะไปประสานกระทรวงสาธารณสุข ให้คนในกรุงเทพฯ ได้รับวัคซีนเข็ม 2 เร็วขึ้น ภายในเดือนกันยายน  หรือช้าสุดวันที่ 5 ตุลสาคม จากนั้นเว้นระยะให้เกิดภูมิคุ้มกัน จะสามารถเปิดกรุงเทพฯให้นักท่องเที่ยวเข้ามาแบบไม่ถูกกักตัวได้ ในวันที่ 15 ตุลาคม 64 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะเป็นไปตามแผนนี้หรือไม่ คงต้องรอความชัดเจนจากการประชุม ศบค.วันที่ 23 กันยายนนี้เป็นตัวชี้ขาด