นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า การรับมือสถานการณ์โควิด ส่วนหนึ่งคือการจัดหา และกระจาย "ยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี" ซึ่งเป็นยาแอนติบอดีคอกเทล ตัวแรกที่ถูกออกแบบมาเพื่อรักษาโรคโควิดโดยตรง
"ยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี" ถูกสร้างและพัฒนาขึ้นเพื่อทำให้ร่างกายผู้ติดเชื้อสามารถต่อสู้กับไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพและยับยั้งการติดเชื้อได้
โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะนำเข้าและกระจายยาโมโนโคลนอลแอนติบอดีให้กับ รพ.ต่างๆ และร่วมกันในการจ่ายยานี้ คาดว่าเร็วๆ นี้ ประเทศไทยจะได้ทดสอบยาดังกล่าว
นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดในประเทศเริ่มคลี่คลายลงในช่วงนั้นจะมีผู้ป่วยที่อาการหนักมากถึง 5% แต่อย่างไรก็ดี
หลังเริ่มผ่อนคลายมาตรการและเริ่มมีการเปิดกิจการกิจกรรมต่างๆ อาจจะทำให้เห็นการระบาดกลับมามากขึ้นอีกครั้งตั้งแต่ช่วงกลางเดือนต.ค. เป็นต้นไป
ส่วนการต่อสู้กับไวรัสที่พัฒนาตัวเองอยู่ตลอดนั้น จำเป็นต้องมีวิธีการรักษาที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นวัคซีน หรือยาชนิดต่างๆ
ที่มีการคิดค้นและพัฒนาขึ้นเพื่อให้ทันกับพัฒนาการของไวรัส ซึ่งยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยเพิ่มให้อาวุธในการต่อสู้กับไวรัสโควิดมีความหลากหลายมากขึ้น
คาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อยครึ่งปีถึงจะสามารถเริ่มใช้ยาตัวนี้กับผู้ป่วยโควิดได้