พม.เร่งแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชาวบ้านรับผลกระทบโครงการรถไฟรางคู่

26 ก.ย. 2564 | 08:00 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.ย. 2564 | 15:01 น.

พม. ประชุม ทีม One Home จ.พิษณุโลก เร่งแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยให้ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่

นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์       (รมว.พม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานการขับเคลื่อนตามภารกิจกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ของจังหวัดพิษณุโลก ครั้งที่ 2/2564 ร่วมกับคณะผู้บริหารกระทรวง พม. พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพิษณุโลก และหัวหน้าหน่วยงาน ทีม One Home พม. จังหวัดพิษณุโลก ว่า ที่ประชุมมีการรายงานเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ตามแผนการพัฒนาระบบรางของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งคาดว่าจะทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในแนวเขตที่ดินการรถไฟจังหวัดพิษณุโลกทั้งสองฝั่งของทางรถไฟรวม 11 สถานี ได้รับผลกระทบ จำนวน 11 ชุมชน รวม 1,907 หลังคาเรือน 

 

ขณะนี้ กระทรวง พม. โดย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ได้ดำเนินกระบวนการสำรวจพบผู้เดือดร้อน จำนวน 261 หลังคาเรือน และใช้กระบวนการขับเคลื่อนแบบมีส่วนร่วมกับผู้เดือดร้อน เพื่อแก้ไขปัญาหาที่อยู่อาศัยดังกล่าว

ทั้งนี้ มีการเตรียมแผนรองรับไว้ช่วยเหลือแล้ว โดยใช้รูปแบบของโครงการบ้านมั่นคงของ พอช. และโครงการบ้านเคหะสุขประชาของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ซึ่งแบ่งออกเป็น 1) ทำสัญญาเช่าบนที่ดินเดิมกับการรถไฟฯ ระยะยาว 30 ปี และ 2) ย้ายไปยังที่ดินใหม่ ไม่ไกลจากที่ดินเดิมภายในระยะทาง 5 กิโลเมตร ทั้งนี้ ได้กำชับให้ พอช. เร่งสำรวจผู้เดือดร้อนเพิ่มเติม ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการและผลกระทบที่เกิดขึ้น และหาแนวทางข้อเสนอการปรับปรุงที่อยู่อาศัยร่วมกับชุมชน

 

เรื่องการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางอย่างมีประสิทธิภาพ จะใช้ข้อมูลจากสมุดพกครอบครัวที่มีข้อมูลในมิติต่างๆ ของกลุ่มเปราะบาง อาทิ เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง แม่เลี้ยงเดี่ยว และคนด้อยโอกาสทำให้ทราบปัญหาและความต้องการ เพื่อให้ความช่วยเหลือต่างๆ อย่างเร่งด่วน โดยคาดว่าจะสามารถเก็บข้อมูลทั้งจังหวัดพิษณุโลกภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 สำหรับกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยวจะให้การส่งเสริมอาชีพทักษะพิเศษที่หุ่นยนต์ทำไม่ได้ อาทิ Hair Specialist ที่เป็นมากกว่าช่างทำผม แต่มีความสามารถทำผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผมจากพืชสมุนไพรเพื่อมูลค่าเพิ่ม โดยจะส่งเสริมให้กลุ่มเปราะบางในนิคมสร้างตนเองปลูกพืชสมุนไพรเป็นวัตถุดิบ จากนั้น จะส่งให้ พอช. นำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงาม แล้วจะส่งขายไปยังตลาดของ กคช. ที่มีผู้อยู่อาศัยจำนวนหลายแสนครอบครัวในโครงการต่างๆ ทั่วประเทศ นอกจากนี้ จะสนับสนุนอาชีพ เชฟ (Chef) ทำอาหาร โดยจะเปิดสอนหลักสูตร Master Chef จำนวน 2 รุ่น ภายในปี 2564 และอีก 5 รุ่น ในปี 2565 รวมทั้งเปิดสอนหลักสูตรบาร์เทนดี้    

เรื่องการช่วยเหลือเด็ก โดยเฉพาะเด็กชาติพันธุ์จะสนับสนุนให้มีโอกาสได้เข้าเรียนในกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายพัฒนาให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ นักการเกษตรสมัยใหม่ และช่างสมัยใหม่ สำหรับเด็กออทิสติก จะให้ อปท. ทุกแห่ง ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลครอบครัวเด็กออทิสติก เพื่อทำแผนที่ทางสังคมสำหรับให้ความช่วยเหลือต่างๆ ต่อไป  อีกทั้งสำรวจจำนวนครูที่มีความพร้อม เป็นครูจิตวิทยาที่สามารถดูแลเด็กออทิสติกได้ ในโรงเรียนร่วมทั้ง 461 แห่ง นอกจากนี้ จะส่งเสริมให้ทุกตำบลมีห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ โดยดึงสภาเด็กและเยาวชนเข้ามาช่วยด้วย