ฐานเศรษฐกิจ เกาะติดประกาศเคอร์ฟิว หรือ การห้ามออกนอกเคหสถาน ใน พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือ พื้นที่สีแดงเข้ม เพื่อลดการเดินทาง ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19
ซึ่ง มติศบค.ล่าสุด วันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ลดพื้นที่สีแดงเข้มจาก 6 จังหวัด เหลือ 0 จังหวัด จึงทำให้ทั่วประเทศไทยไม่มีจังหวัดใดที่มีประกาศเคอร์ฟิวช่วงเวลา 23.00-03.00 น. โดยเริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ธ.ค. 2564 เป็นต้นไป
สำหรับ 6 จังหวัดที่ก่อนหน้านี้ที่อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้มหรือพื้นที่ควบคุมสูงสุด ได้แก่
ซึ่งทำให้วันที่ 1 ธ.ค. 64 เป็นต้นไปทั้ง 6 จังหวัดดังกล่าวไม่ต้องใช้มาตรการห้ามออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) เวลา 23.00 – 03.00 น. อีกต่อไป
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. แถลงเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 64 ภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผอ.ศบค. เป็นประธาน ว่า ที่ประชุม ศบค.เห็นชอบการขยายระยะเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครั้งที่ 15 ออกไปอีก ระหว่างวันที่ 1 ธ.ค.64 – 31 ม.ค.65
พร้อมทั้งเห็นชอบปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ จากเดิมที่มีพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 6 จังหวัด เหลือเป็น 0 จังหวัด ทำให้ขณะนี้ไม่มีพื้นที่ใดมีการประกาศใช้ข้อกำหนดที่ห้ามออกนอกเคหสถานแล้ว
ขณะที่พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) จาก 39 จังหวัด ปรับเป็น 23 จังหวัด พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) มี 23 จังหวัดเหมือนเดิม พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) จาก 5 จังหวัด ปรับเป็น 24 จังหวัด
พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) จาก 4 จังหวัด ปรับเป็น 7 จังหวัด ได้แก่ กทม. กระบี่ ภูเก็ต พังงา โดยเพิ่มขึ้นมา 3 จังหวัดคือ กาญจนบุรี นนทบุรี ปทุมธานี
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า จากนั้นในที่ประชุมได้มีการหารือถึงมาตรการสำหรับสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ซึ่งใช้เวลาหารือตรงนี้นาน เนื่องจากการประชุมวันที่ 12 พ.ย. มีมติให้เปิดบริการได้ในวันที่ 16 ม.ค.65 แต่ผู้ประกอบการยื่นหนังสือขอให้เปิดดำเนินการเร็วขึ้นตั้งแต่เดือน ธ.ค.64 ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้นิ่งเฉย เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ได้นำมาหารือในที่ประชุม
โดยที่ประชุมมีความเห็นว่า หากเปิดจะมีความเสี่ยงหลายประการ ทั้งเรื่องการถ่ายเทอากาศ เรื่องพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องถอดหน้ากากอนามัย เวลาดื่มแอลกอฮอล์การครองสติอาจมีปัญหา อีกทั้งจะอยู่ในสถานประกอบการเป็นเวลานาน ที่ผ่านมาก็มีคลัสเตอร์ใหญ่ๆ เกี่ยวกับสถานบันเทิงไม่ต่ำกว่า 2 คลัสเตอร์ ปีที่แล้วประเทศไทยพลาดการฉลองปีใหม่ เพราะมีการติดเชื้อใหญ่ก่อนเทศกาลปีใหม่ไม่นาน ทำให้ภาพลักษณ์การส่งเสริมท่องเที่ยวขาดช่วงไป
ดังนั้น จึงต้องทำให้เห็นถึงมาตรการควบคุมโรคที่เป็นการประกาศศักดา ประกาศศักยภาพของประเทศ การใช้เทศกาลฉลองปีใหม่ถือเป็นเรื่องสำคัญ ที่ประชุมจึงเห็นชอบว่าขอให้ดำเนินการตามแผนงานที่กำหนดไว้เดิม โดยตัดเรื่องวันที่ 16 ม.ค.65 ออกไป เพราะถ้าผู้ประกอบการให้ความร่วมมือเต็มที่อาจเปิดเร็วได้กว่าวันดังกล่าวได้
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า โดยตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. ให้สถานประกอบการเตรียมความพร้อม โดยการปรับปรุงสภาพแวดล้อมและมอบให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร จัดทำทีมประเมินสถานบันเทิงและซักซ้อมความเข้าใจมาตรการที่กำหนด
ให้พิจารณาเปิดดำเนินการเมื่อพร้อมในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว พื้นที่เฝ้าระวังสูง พื้นที่เฝ้าระวัง การเปิดบริการกำหนดให้จำหน่ายสุราได้ถึง 23.00 น. เปิดบริการได้ถึง 24.00 น. แต่ให้งดกิจกรรมคาราโอเกะ งดพื้นที่เต้นรำส่วนกลาง งดบริการเครื่องดื่มที่ใช้แก้วร่วมกัน งดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ต้องยกระดับโควิดฟรีเซตติ้ง นักร้อง พนักงานต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบเกณฑ์ ตรวจคัดกรองพนักงานทุกคนด้วย ATK ทุก 3 วัน ลูกค้าต้องแสดงหลักฐานการได้รับวัคซีนและตรวจ ATK ด้วยตัวเองก่อนเข้าบริการ
สถานประกอบการต้องลงทะเบียนทำการประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์มไทยสตอปโควิด 2พลัส ควบคุม กำกับ ให้พนักงานตนเองผ่านไทยเซฟไทย
“ภาพลักษณ์ของไทยในช่วงปีใหม่มีความสำคัญสูงมาก ถ้าเราช่วยประคับประคอง ดูแลซึ่งกันและกัน แล้วทำให้การฉลองปีใหม่เกิดเป็นภาพระดับประเทศดำเนินการตรงนั้นได้ จะส่งเสริมอีกหลายๆ ธุรกิจ อีกหลายๆ ด้าน ที่จะทำให้ประเทศไทยมีชื่อชั้นว่ามีศักยภาพในการป้องกันโรคได้อย่างดี”นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
จากนั้นวันที่ 30 พ.ย. 2564 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ "ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๓๙)"
มีรายละเอียดดังนี้
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไป อย่างต่อเนื่องเป็นระยะ นั้น
โดยที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของประเทศไทยในห้วงเวลา
ที่ผ่านมามีแนวโน้มที่ดีขึ้นเป็นลําดับ การระบาดที่ตรวจพบจะเกิดขึ้นเฉพาะในบางเขตพื้นที่หรือในบางจังหวัด ที่พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถเข้าควบคุมสถานการณ์และจํากัดพื้นที่โดยมีมาตรการเฝ้าระวังและกํากับ ติดตามการระบาดอย่างใกล้ชิด ด้วยความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทุกภาคส่วนในการเฝ้าระวัง และการจัดหาวัคซีนให้กับประชาชนสามารถดําเนินการได้อย่างต่อเนื่องตามเป้าหมาย
ประกอบกับศักยภาพด้านสาธารณสุขของไทยที่เข้มแข็ง ทําให้สามารถจัดหาทรัพยากรทางสาธารณสุขที่จําเป็น เพื่อบริการแก่ประชาชนได้อย่างครอบคลุม ฝ่ายสาธารณสุขจึงได้ประเมินภาพรวมของสถานการณ์และ มีข้อเสนอแนะให้พิจารณาปรับระดับพื้นที่และผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ลงได้ในระดับหนึ่ง
เพื่อให้รัฐบาลดําเนินการตามแผนและนโยบายการเปิดประเทศและผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ อย่างค่อยเป็น ค่อยไปตามระดับความรุนแรงของสถานการณ์ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจควบคู่กับการบริหารจัดการด้านสาธารณสุข ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมุ่งเน้นต่อความปลอดภัยของประชาชน โดยยังมีความจําเป็นต้องคงไว้ ซึ่งมาตรการสําหรับการดําเนินกิจกรรมกิจการต่าง ๆ ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
เพื่อให้การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและสังคมดําเนินไปควบคู่กับมาตรการด้านสาธารณสุขได้อย่างสมดุล เข้มแข็ง และยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ใกล้เคียงกับสภาวะปกติ อย่างรวดเร็วในอนาคตอันใกล้
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกําหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายตามคําแนะนําของศูนย์บริหาร สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ศบค.) ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 การปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์และการกําหนดพื้นที่นําร่อง ด้านการท่องเที่ยวเพิ่มเติม ให้ ศบค. มีคําสั่งเพื่อปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดจําแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์ และกําหนดพื้นที่นําร่องด้านการท่องเที่ยวเพิ่มเติม ตามบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้ายคําสั่ง เพื่อให้ สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และดําเนินการตามแผนการเปิดประเทศ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยให้นํามาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่กําหนดไว้สําหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่าง ๆ
ข้อห้ามและข้อปฏิบัติที่ได้ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัด หรือแย้งกับข้อกําหนดนี้ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเตรียมการด้านบุคลากร สถานที่ และ ประชาสัมพันธ์เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมเพื่อการดําเนินการตามมาตรการ ข้อห้ามและข้อปฏิบัติต่าง ๆ เป็นการล่วงหน้า
ข้อ 2 การยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานสําหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
ให้ยกเลิกมาตรการห้ามออกนอกเคหสถานสําหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเฉพาะเหตุอันเนื่องจาก สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ตามข้อ 2 แห่งข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 38) ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564
ทั้งนี้ การยกเลิกดังกล่าวให้มีผลตั้งแต่เวลา 23.00 น. ของวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป
ข้อ 3 การขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการควบคุมและป้องกันโรค ให้บรรดามาตรการ ควบคุมแบบบูรณาการ ข้อห้าม ข้อยกเว้น และข้อปฏิบัติสําหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่าง ๆ รวมทั้ง มาตรการเตรียมความพร้อมที่ได้กําหนดไว้แล้วตามข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 37) ลงวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2564
ได้แก่ การห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร์โรค กิจกรรมการรวมกลุ่มของบุคคลที่สามารถจัดได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต การปฏิบัติงานนอกสถานที่ของเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ มาตรการควบคุม แบบบูรณาการจําแนกตามพื้นที่สถานการณ์ และมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นําร่องด้าน การท่องเที่ยว รวมถึงบรรดามาตรการ หลักเกณฑ์ หรือแนวปฏิบัติที่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงาน ที่รับผิดชอบกําหนดขึ้นภายใต้ข้อกําหนดดังกล่าวยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป
ในส่วนของมาตรการควบคุมและป้องกันโรคสําหรับสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือสถานที่อื่นที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดําเนินการ โดยมุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจ ช่วยเหลือและให้การสนับสนุนการเตรียมการของผู้ประกอบการ ตามความเหมาะสมและตามกรอบอํานาจหน้าที่
เพื่อให้สถานที่ดังกล่าวมีความพร้อมสําหรับการเปิด ให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างปลอดภัย โดยเฉพาะสถานบริการหรือสถานที่ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่นําร่อง ด้านการท่องเที่ยวหรือในพื้นที่ที่มีความพร้อม โดยรัฐบาลจะได้พิจารณาความเหมาะสมจากข้อมูล การประเมินสถานการณ์ของฝ่ายสาธารณสุข เพื่อให้มีการดําเนินการตามแผน นโยบาย และตามกรอบเวลา ที่กําหนดต่อไป
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ราชกิจจานุเบกษาที่เกี่ยวข้อง