ดร.กรณ์กณิศ แสงดี ผู้อำนวยการส่วนงานนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด กล่าวในเวทีสัมมนา Virtual Forum Go Green เมกะเทรนด์เพื่อโลกสีเขียว ในหัวข้อ GREEN MISSION:ปฏิบัติการไทย สู่สังคมโลว์คาร์บอน ลดโลกร้อน จัดโดย “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ตลอด 33 ปีที่ดำเนินธุรกิจใน 5 กลุ่มได้แก่ ธุรกิจมะพร้าว, เครื่องดื่มธัญญาหาร,อาหารพร้อมปรุง,เครื่องปรุงรส และขนมขบเคี้ยว อำพลฟูดส์ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
โดยดำเนินโครงการต่างๆที่ลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งที่สำนักงาน และโรงงานทั้งสองแห่งคือที่จ.นครปฐมและราชบุรี ทั้งในด้านการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ การลดพลังงาน ลดของเสีย ตลอดจนซัพพลายเชน ภายในแนวคิด “Green Supply Chain” ตั้งแต่เริ่มต้นการผลิตจนถึงมือผู้บริโภค ถือเป็นวัฒนธรรมองค์กรสีเขียว ที่ผลักดันแบบครบวงจร
ทั้งนี้ที่ผ่านมาบริษัทได้ดำเนินการไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น การบริหารจัดการน้ำที่เดิมพบว่า จะใช้น้ำ 12 ลิตรต่อผลิตภัณฑ์ 1 กก. แต่หลังลดการรั่วไหล การสูญเสีย ฯลฯ ปัจจุบันเหลือใช้น้ำ 6 ลิตรต่อผลิตภัณฑ์ 1 กก. นอกจากนี้ยังนำน้ำเสียจากระบบบำบัดกลับมาใช้เป็นน้ำปะปาภายในโรงงานด้วย รวมทั้งการจัดทำสมาร์ท แฟคทอรี่
เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าภายในโรงงาน การจัดทำโซลาร์ เซล ธนาคารขยะ การนำใยมะพร้าวอัดเม็ดเป็นแท่งเชื้อเพลิง ฯลฯ โดยพบว่าที่ผ่านมาสามารถประหยัดเงินจากการผลิตไฟฟ้าใช้เองได้คิดเป็นมูลค่ากว่า 49 ล้านบาท เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ในอุตสาหกรรมอาหารกับการเข้าสู่สังคมโลว์คาร์บอน จะมุ่งไปที่ระบบลีน (LEAN) การปรับการทำงานในโรงงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการลดหรือ Waste ทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การประเมินคาร์บอน ฟุตพริ้นท์ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ ซึ่งการจะสร้างให้ผู้ประกอบการรายย่อยหรือ SME เข้าถึงโลว์คาร์บอน จะต้องทำให้เห็นถึงผลที่จะเกิดขึ้นต่อธุรกิจ โดยเฉพาะการลดต้นทุนได้มากกว่าและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ภาครัฐต้องให้การสนับสนุน คือ 1 การสนับสนุนเรื่องความรู้ต่อภาคเอกชน การประเมิน เทคโนโลยี ในการปรับปรุงเพื่อเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ 2. การสนับสนุนทุน ในการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนและเพิ่มประสิทธิภาพ และ 3. สิทธิประโยชน์ต่างๆ ถ้าองค์กรเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะได้รับสิทธิประโยชน์ เพื่อจูงใจให้กับองค์กรก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำด้วย