วันนี้ (4 ตุลาคม 2564) เป็นวันแรกที่เริ่มฉีด "วัคซีนโควิดเด็ก" 4.5 ล้านคนทั่วประเทศ สำหรับเด็กอายุ 12–18 ปี (ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 หรือเทียบเท่า) รับเปิดเทอมปลอดภัย 1 พ.ย.นี้ โดยเป็นการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO เป็นวัคซีนที่สามารถใช้ในกลุ่มเด็กได้
และรัฐบาลยืนยันว่าจะเดินหน้าจัดหาวัคซีนชนิดอื่นเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถเดินหน้าการฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมทั้งหมด ซึ่งจะทำให้การเปิดภาคเรียนที่ 2 สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง
ในระยะแรกได้จัดสรรวัคซีน 2 ล้านโดสในต้นเดือนตุลาคมนี้ โดยการฉีดวัคซีนไม่ได้เป็นเงื่อนไขในการเปิดเรียนต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ แต่การฉีดวัคซีนช่วยให้เด็กวัยเรียน มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น
ส่วนเด็กที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนก็สามารถเข้าเรียนได้ ควบคู่กับการเข้มงวดมาตรการป้องกันโรค ภายใต้การพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด
สำหรับเด็กที่มีโรคประจำตัวไม่ได้เรียนหนังสือ หรือกลุ่มนอกระบบการศึกษา สามารถเข้ารับวัคซีนที่โรงพยาบาลที่รักษาประจำได้
ส่วนเด็กเรียนที่บ้านหรือโฮมสคูล ลงทะเบียนรับวัคซีนกับโรงพยาบาลใกล้บ้านได้เช่นกัน ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนให้แก่เด็กจะเป็นไปตามความยินยอมของนักเรียนและผู้ปกครอง ไม่เป็นการบังคับ ซึ่งที่ ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้มีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้แก่เด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงไปบ้างแล้ว เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน เป็นต้น
ฉีดกี่โดส ห่างกันเท่าไหร่
กรมควบคุมโรค ระบุว่าการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ฉีดจำนวน 2 เข็ม ระยะห่าง 3-4 สัปดาห์
ผลข้างเคียงของวัคซีนโควิดไฟเซอร์
ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย และไม่รุนแรงของวัคซีนไฟเซอร์ มีดังนี้
1.มีไข้ หนาวสั่น
2.ปวดศีรษะ
3.ปวดกล้ามเนื้อ
4.ปวดข้อต่อ
5.ท้องเสีย
6.อ่อนเพลีย
7.ปวด บวม หรือรอยแดงบริเวณที่ฉีด
โดยผลข้างเคียงเหล่านี้อาจเริ่มใน 1-2 วันหลังจากรับวัคซีน จากกลุ่มทดลองพบว่าผลข้างเคียงเกิดขึ้นหลังจากฉีดเข็มที่ 2 และควรจะหายไปในไม่กี่วัน
อาการที่ต้องเฝ้าระวังของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื้อหุ้มหัวใจอักเสบ มีดังนี้
1.แน่นหน้าอกเจ็บหน้าอก
2.หอบเหนื่อยง่าย
3.ใจสั่น
4.หมดสติเป็นลม
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากข้อมูลผลงานวิจัยในต่างประเทศ ในกลุ่มคนที่ได้รับวัคซีนชนิด mRNA ได้แก่ ไฟเซอร์และโมเดอร์นา พบว่ามีความเสี่ยงเล็กน้อยที่จะมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) พบบ่อยกว่าในเด็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งใน "เด็กผู้ชาย" หลังรับวัคซีนโดสที่ 2 อาจทำให้เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นแรง แต่อาการจะหายไปเองใน 1 สัปดาห์
สำหรับประเทศไทยพบอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่คณะผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัยแล้วว่ามีความเกี่ยวข้องกับวัคซีนเพียง 1 ราย เป็นเด็กชายอายุ 13 ปี มีภาวะโรคอ้วน แต่สามารถรักษาหายเป็น ปกติแล้ว
ส่วนกรณีที่ผู้ปกครองมีความกังวลและประสงค์ให้บุตรหลานฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตายนั้น หากบริษัทผู้ผลิตยื่นเอกสารขึ้นทะเบียนปรับการใช้ในเด็กกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเรียบร้อยแล้ว กระทรวงสาธารณสุขจะจัดบริการเพิ่มเติมให้ต่อไป